เตรียมใช้ ‘สุนัขดมกลิ่น’ ตรวจโควิดผู้ป่วยติดเตียงในชุมชน
ข่าววันนี้ ( 18 พ.ค. 64 ) นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เตรียมส่งอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) เข้าร่วมโครงการ “ตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 โดยใช้สุนัขดมกลิ่น” ซึ่งอบรมโดยคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งพบว่า มีความแม่นยำในการตรวจหาเชื้ออยู่ในระดับสูงและมีความปลอดภัยสูง
ศาสตราจารย์ สัตวแพทย์หญิง เกวลี ฉัตรดรงค์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า โครงการนี้เป็นการนำศักยภาพของสุนัขที่มีความสามารถในการดมกลิ่นดีกว่าคนถึง 50 เท่า มาใช้ในการดมกลิ่นเหงื่อของผู้ติดเชื้อโควิด-19
ซึ่งยืนยันได้ว่าไม่มีการเจือปนของเชื้อไวรัส โดยนำสำลีและถุงเท้ามาใส่กระป๋องเพื่อให้สุนัขดมกลิ่น เมื่อสุนัขได้กลิ่นก็จะนั่งลงเพื่อบอกว่าคนๆ นั้นติดเชื้อโควิด-19
ที่ผ่านมาได้ทำการฝึกสุนัขพันธุ์ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์ จำนวน 6 ตัว พบว่ามีความแม่นยำในการพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 แต่ไม่แสดงอาการสูงถึง 94.8% ซึ่งนับเป็นต้นแบบในการฝึกสุนัขเพื่องานทางการแพทย์ชุดแรก และถือเป็นความสำเร็จครั้งแรกในไทย สำหรับการฝึกฝูงสุนัขดมกลิ่นตรวจหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพื่อเสริมปฏิบัติการคัดกรองปกติ
เนื่องจากการตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อโควิด-19 ด้วยอุปกรณ์วัดอุณหภูมิแบบต่างๆ เป็นวิธีการคัดกรองเบื้องต้น และได้ผลสำหรับผู้ที่ติดเชื้อและแสดงอาการแล้วเท่านั้น ส่วนผู้ที่ติดเชื้อแต่ยังไม่แสดงอาการ เครื่องมือเหล่านี้ยังไม่สามารถตรวจพบได้ แต่สุนัขที่ได้รับการฝึกฝนมาแล้วสามารถทำสิ่งนี้ได้
นายจุติ ระบุว่า มีเป้าหมายที่จะฝึกอบรม อพม. ให้ครบทุกเขตใน กทม. อย่างน้อยเขตละ 2 คน รวม 100 คน โดยแบ่งการอบรมเป็นรุ่นๆ ละ 15 คน เพื่อเป็นกลไกในการตรวจคัดกรองผู้ป่วยโควิด-19 โดยเฉพาะผู้ป่วยติดเตียงที่ไม่สามารถออกมาตรวจคัดกรองนอกชุมชนได้