รีเซต

“สุริยะ” ลุยดับเบิลเด็ค กทพ.จ่อเจรจา BEM

“สุริยะ” ลุยดับเบิลเด็ค กทพ.จ่อเจรจา BEM
ทันหุ้น
21 ธันวาคม 2566 ( 07:01 )
45

#CK #กทพ. #ทันหุ้น – รัฐมนตรีคมนาคม เตรียมเวิร์กช็อป 72โครงการขนาดใหญ่ รอรัฐสภาเคาะ พ.ร.บ.งบรายจ่ายปี 2567พฤษภาคมปีหน้า สั่งลุยดับเบิลเด็ค ด้านผู้ว่า กทพ. เตรียมเจรจา BEM แลกอายุสัมปทาน 17 ปี คาดเข้าบอร์ด กทพ. มีนาคม เสนอ ครม. สิงหาคมปีหน้า นักวิเคราะห์ชู CK โดดเด่น ตุนงาน 1.36 แสนล้านบาท หนุนกำไรโตต่อเนื่อง 2 ปี ให้เป้า 27.94 บาท “ซื้อ” STEC เป้า 12.85บาท


นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยอมรับว่าการจัดทำร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567ของรัฐบาลมีความล่าช้า ส่งผลต่อการพิจารณาลงทุนโครงการเมกะโปรเจ็กต์เพื่อขับเคลื่อนการขยายตัวทาง เศรษฐกิจในประเทศ เบื้องต้นคาดการณ์ว่าสภาผู้แทนราษฎรจะสามารถผ่านร่างพ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2567ออกมาได้ช่วงเดือนพฤษภาคม 2567 และจะเร่งผลักดันร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2568ตามออกมาเพื่อให้การลงทุนภาครัฐมีความต่อเนื่อง


ทั้งนี้ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานเตรียมข้อมูลโครงการเร่งด่วนกว่า 72 โครงการ ที่ต้องเปิดประมูล หรือเจรจา ลงนามสัญญาจัดซื้อ-จัดจ้าง เพื่อเข้าประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) จัดลำดับความสำคัญ และตั้งคณะทำงาน (War Room) ติดตามการดำเนินงานทุกโครงการอย่างใกล้ชิด ในวันที่ 11 มกราคม 2567นี้


พร้อมกันนี้ได้สั่งการให้ผู้ว่าการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย เร่งดำเนินโครงการทางด่วนขั้นที่ 2ช่วงงามวงศ์วาน-พระราม 9 ให้เป็นรูปธรรมภายในปี 2567เนื่องจากเป็นการลงทุนโดยภาคเอกชน

“ยอมรับว่าพ.ร.บ.งบประมาณปี 2567มีความล่าช้า แต่ก็ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานเตรียมความพร้อมแผนการดำเนินงาน อาทิ ขั้นตอนเอกสาร, กรอบกฎหมาย, ร่าง TOR ฯลฯ ไว้รอวงเงิน ซึ่งรัฐบาลจะเร่งทั้งพ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2567 - 2568ซึ่งน่าจะออกมาในเวลาใกล้เคียงกัน เพื่อให้การลงทุนมีความต่อเนื่อง โดยในวันที่ 11 มกราคม 2567นี้ได้เรียกประชุมเพื่อตั้งคณะทำงานติดตามทุกโครงการจะไม่ให้ล่าช้าอย่างเด็ดขาด”


@เตรียมเรียกเอกชนเจรจา


นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย หรือ กทพ. เปิดเผย ภายหลังรับมอบนโยบาย เร่งผลักดันโครงการทางด่วนขั้นที่ 2ช่วงงามวงศ์วาน-พระราม 9 ว่า กทพ.เตรียมที่จะเจรจากับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้ถือสัญญาสัมปทานทางพิเศษฉลองรัฐ และทางพิเศษศรีรัช เพื่อพิจารณาขยายระยะเวลาสัมปทานออกไปจาก ณ ปัจจุบันที่สัญญาสัมปทานทั้ง 2 ฉบับจะสิ้นสุดในวันที่ 31ตุลาคม 2578 (ราว 12 ปี) ไม่ต่ำกว่า 17 ปี เพื่อแลกกับวงเงินลงทุนราว 3.4 หมื่นล้านบาท


เบื้องต้นคาดว่าเมื่อบรรลุข้อตกลงร่วมกับภาคเอกชนผู้ถือสัญญาสัมปทานแล้ว จะนำเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (บอร์ด กทพ.) ราวเดือนมีนาคม 2567 จากนั้นจะนำเสนอหน่วยงานต่างๆ อาทิ คณะกรรมการกฤษฎีกา ฯลฯ คาดว่าจะสามารถนำเสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อนำเข้าบรรจุในวาระการประชุมคณะรัฐมนตรีได้ภายในเดือนสิงหาคม 2567


“โครงการนี้เป็นการลงทุนโดยภาคเอกชน 100%วงเงินเดิมคือ 3 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันเพิ่มขึ้นมาเป็น 3.4หมื่นล้านบาท จึงต้องเจรจาขยายระยะเวลาสัมปทานในกรอบระยะเวลาที่เหมาะสมกับวงเงินดังกล่าวก็คาดว่าจะไม่ต่ำกว่า 17 ปี ก็จะดำเนินการคู่ขนานกับช่วงเวลาที่รอบอร์ด กทพ.ชุดใหม่ คาดว่าจะเสนอบอร์ดได้ในการประชุมเดือนมีนาคม 2567เพื่อให้ระยะเวลาด้านเอกสาร, กฎหมาย ฯลฯ สั้นที่สุด”


@พร้อมลุยกะทู้ - ป่าตอง


พร้อมกันนี้ กทพ. มีแผนเดินหน้าลงทุนโครงการทางพิเศษ จ.ภูเก็ต ระยะที่ 1ช่วงกะทู้ - ป่าตอง ระยะทาง 4 กิโลเมตร วงเงินลงทุนประมาณ 9,000ล้านบาท ภายในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 (1H/67) โดยเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีทบทวนแผนการลงทุนจากเดิมที่จะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการนี้ (PPP) จะเปลี่ยนเป็น กทพ. ลงทุนโครงสร้าง (งานโยธา) เอง


“แผนการดำเนินงานเสร็จแล้ว เตรียมนำเสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อพิจารณา หากไม่มีการปรับปรุงแก้ไขคาดว่าจะสามารถบรรจุในวาระการประชุมคณะรัฐมนตรีได้ภายในช่วงเดือนมกราคม และจะสามารถเริ่มกระบวนเปิดประมูล ได้ทันที”


@กลุ่มรับเหมา “ท้าทาย”


นายศรัณย์  ชินวรรณโณ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หากร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ปี 2567 มีความล่าช้ามากเกิน 1 ไตรมาส ถือเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการในกลุ่มรับเหมาก่อสร้างในการหางานใหม่ เนื่องจาก ณ สิ้นไตรมาส 3/2566 มูลค่างานในมือ (Backlog) เริ่มลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดย Backlog ของ STEC อยู่ที่ราว 6.5 หมื่นล้านบาท และ CK ที่ราว 1.36 แสนล้านบาท


ขณะที่กลุ่มงานเสาเข็มมีเพียง SEAFCO ที่ Backlog ราว 1 พันล้านบาท จึงเลือก CK เป็นหุ้นเด่น คาดการณ์กำไรสุทธิทั้งปี 2566 ที่ 1,520 ล้านบาท และปี 2567 ที่ 1,776 ล้านบาท ราคาเหมาะสมที่ 27.94 บาท และแนะนำ “ซื้อ” STEC เบื้องต้นคาดการณ์กำไรสุทธิทั้งปี 2566 ที่ 565 ล้านบาท และปี 2567 ที่ 769 ล้านบาท (ไม่รวมส่วนการลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู) ราคาเหมาะสมที่ 12.85 บาทโดย STEC มีปัจจัยหนุนคือโครงการสนามบินอู่ตะเภามูลค่างานโยธาราว 2.7 หมื่นล้านบาท



รู้ทันเกม รู้ก่อนใคร ติดตาม "ทันหุ้น" ที่นี่

FACEBOOK คลิก https://www.facebook.com/Thunhoonofficial/

YOUTUBE คลิก https://www.youtube.com/channel/UCYizTVGMealUUalT6VdUdNA

Tiktok คลิก https://www.tiktok.com/@thunhoon_

LINE@ คลิก https://lin.ee/uFms4n5

TELEGRAM คลิก https://t.me/thunhoon_news

Twitter คลิก https://twitter.com/thunhoon1

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง