รีเซต

TDRI ชี้ ฝุ่น PM2.5 ยังไร้ทางออก ??

TDRI ชี้ ฝุ่น PM2.5 ยังไร้ทางออก ??
TNN ช่อง16
7 เมษายน 2564 ( 14:52 )
160
TDRI ชี้ ฝุ่น PM2.5 ยังไร้ทางออก ??

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาคุณภาพอากาศและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 อย่างรุนแรง โดยเฉพาะในช่วงระหว่างเดือนธันวาคมถึงพฤษภาคมของทุกปี ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบต่อสุขภาพ  โดยเฉพาะในเมืองหลวง  ซึ่งรัฐบาลพยายามออกมาตรการและหาแนวทางการแก้ไขอย่างต่อเนื่อง ขณะที่หลายฝ่าย ย้ำว่ารัฐบาลจะต้องแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง เริ่มต้นตั้งแต่การเก็บข้อมูล จนถึงออกนโยบาย   


วันนี้รายการเศรษฐกิจInsight  จะพาไปดูผลงานวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ หรือ TDRI   ที่มีการศึกษามาตรการในการจัดการPM2.5 ในภาคขนส่งและยานยนต์  

ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ ค่าPM2.5 เกิดเป็นปัญหาซ้ำๆ ขึ้นทุกปี ซึ่งการเกิดPM2.5  หลักๆ ที่เราทราบกันดีหนี้ไม่พ้น ปัญหาหลักๆ เหล่านี้ 


 


1. การเผาไหม้วัสดุทางการเกษตรในที่โล่ง 2.  เผาป่า 3. โรงงานอุตสาหกรรม  และการปล่อยไอเสียของรถยนต์ เป็นต้น   ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชน เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็งปอด เป็นต้น หากปล่อยไว้โดยไม่รีบดำเนินการแก้ไขให้ตรงจุด ปัญหาอาจทวีความรุนแรงมากขึ้นในระยะยาว และส่งผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจ และคุณภาพสิ่งแวดล้อม



จากการศึกษาของ World Bank ในปีพ.ศ.2556 ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศ มีจำนวน 48,819 คน ซึ่งเพิ่มขึ้น56% จากปี พ.ศ.2533 มีจำนวน 31,173 คน สูญเสียด้านสวัสดิการ คิดเป็น63,369 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ คิดเป็น 6.29 ของGDP และสูญเสียผลิตภาพแรงงาน คิดเป็น2361 ล้านเหรียญสหรัฐ 


สำหรับแนวทางในการควบคุมปริมาณ ฝุ่น PM2.5 ที่เกิดจากยานยนต์นั้น ประเทศไทยนำมาตรฐาน Euro ซึ่งกำหนดโดยสหภาพยุโรปมาใช้ในการกำกับควบคุมสารมลพิษที่เกิดจากรถยนต์ โดยมาตรฐาน Euro แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ มาตรฐานการระบายไอเสียของ รถยนต์ และมาตรฐานคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง โดยมาตรฐานด้านการระบายไอเสียแบ่งเป็น 6 ระดับ ตั้งแต่มาตรฐาน Euro 1 ถึง Euro 6 ภายใต้มาตรฐานที่สูงขึ้น ปริมาณสารมลพิษที่เกิดจากรถยนต์จะลดลง ซึ่งรวมถึง ฝุ่น PM2.5 ด้วย ดังนั้น TDRI จึงนำไปปัญหาดังกล่าวมาศึกษา ทั้งหมด 3 มาตรการหลักๆ ได้แก่ 


 


มาตรการที่1 ยกระดับมาตรฐานน้ำมัน จากEuro 4 ไป Euro5 ส่งผลให้ ปริมาณ PM2.5 ลดลง 7,588ตัน/ปี 

มาตรการที่2 ยกระดับมาตรฐานไอเสียรถยนต์จาก จากEuro 4 ไป Euro5 ปริมาณ PM2.5 ลดลง 1,009ตัน/ปี 

มาตรการที่3 จัดการรถยนต์ที่มีอายุมาก (จำกัดอายุรถเก่า ) จำกัดอายุรถเก่าอายุรถ 15 ปี ปริมาณPM2.5 ที่ลดลง 21,017 ตัน/ปี และจำกัดอายุรถ 20 ปี ปริมาณPM2.5 ลดลงถึง 13,066 ตัน/ปี 


จากทั้ง3 มาตรการ (แช่กราฟฟิก ) ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากแต่ละมาตรการ คือ ปริมาณฝุ่นPM2.5 ที่ปล่อยจากยานพาหนะที่ลดลงเมื่อเทียบกับกรณีที่ไม่มีการบังคับใช้ 3มาตรการ   


และหากจำกัดอายุรถเก่าตั้งแต่ 15-20 ปี สามารถลดการปล่อยปริมาณค่าPM2.5 ได้ดีที่สุด และเพื่อจูงใจให้ผู้ใช้รถ ไม่ใช้รถคันเดิมเป็นเวลานานเกินไป ควรส่งเสริมการซื้อรถยนต์ใหม่ที่ไม่สร้างมลพิษทางอากาศ เช่น รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) ผ่านการอุดหนุนจากภาครัฐในรูปแบบต่างๆ 


แต่ทั้ง3 แนวทางที่นำมาศึกษา รัฐบาลต้องมีต้นทุน โดยเฉพาะการจำกัดรถเก่าที่อายุการใช้งานมากกว่า 15-20  ปี  และการแก้ไขเรื่องยานยนต์ ต้องหารือร่วมกันของ3 กระทรวง  ประกอบด้วย  กระทรวงพลังงาน ดูแลเรื่องการเปลี่ยนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง , กระทรวงอุตสาหกรรม ดูแลด้านการผลิตเครื่องยานยนต์  และกระทรวงคมนาคม  ดูแลเรื่องการตรวจสภาพรถ



ทั้งนี้ จากมาตรการทั้งหมด TDRI  ยังเสนอทางเลือกเพื่อแก้ไขปัญหาจากภาคขนส่งและยานยนต์ ให้ภาครัฐควรเร่งดำเนินมาตรการต่างๆ อย่างชัดเจน ตามความเหมาะสม  


โดยแบ่งแนวทางการแก้ไขออกเป็น3 ระยะ  ดังนี้ 

 

 


ระยะสั้น  : เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสภาพรถยนต์และตรวจจับไอเสีย โดยเฉพาะรถยนต์เก่าที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล จัดทำฐานข้อมูลด้านมลพิษอากาศ รวมถึงสื่อสารกับประชาชนเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและแนวทางการป้องกัน PM2.5 ที่ ถูกต้อง


ระยะกลาง  : บังคับใช้มาตรฐาน Euro ในระดับที่สูงขึ้นทั้งส่วนรถยนต์และส่วนน้ำมันเชื้อเพลิง ปรับโครงสร้างการเก็บภาษี

รถยนต์ประจำปี รวมถึงพิจารณามาตรการที่ส่งเสริมให้มีการนำรถยนต์ที่เก่าออกจากระบบ


ระยะยาว : ส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้รถยนต์ประเภทที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น รถยนต์พลังงานไฟฟ้า ควบคู่กับการพัฒนาระบบโครงข่ายขนส่งสาธารณะต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพและครอบคลุมให้บริการอย่างทั่วถึง


ผู้บริหาร สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย  ก็เห็นด้วยกับแนวทางการศึกษาของTDRI  ในการแก้ไขปัญหาPM2.5 ในภาคการขนส่งและยานยนต์  ว่าการแก้ปัญหา PM2.5 ไม่ควรเลือกเพียงมาตรการเดียว ควรใช้มาตรการต่าง ๆ ควบคู่กัน เพราะการลด PM2.5 จะสูงที่สุดเมื่อใช้รถยนต์ Euro 5 คู่กับน้ำมัน Euro 5 และจัดการรถเก่า เช่น จำกัดอายุใช้งาน เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจเช็คสภาพรถเก่า ปรับโครงสร้างภาษีประจำปีรถให้เพิ่มขึ้นเมื่อรถมีอายุเพิ่มขึ้น 

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของงานวิจัย ข้อมูล และความเห็นอันหลากหลายเกี่ยวกับการศึกษาแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ที่สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า แม้แหล่งกำเนิดสำคัญๆ อาจอยู่ไม่ไกลจากที่เรารู้กันทุกวันนี้ ไอเสียรถดีเซล การเผาในที่โล่ง อุตสาหกรรม ฯลฯ แต่ก็ยังคงมีวิธีการและคำตอบใหม่ๆ ในการศึกษาเรื่องนี้ที่รอเราไปให้ถึง


ทั้งหมดนี้ ขึ้นอยู่กับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในส่วนของผู้บริโภคนั้น ก็ช่วยลดปริมาณของฝุ่น PM2.5 ได้ โดยลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวและเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะแทน  แต่ภาครัฐต้องพัฒนาระบบขนส่งมวลชนให้เป็นตัวเลือกที่ดึงดูดและน่าสนใจ ทั้งในด้านความครอบคลุม ของเส้นทางเดินรถ ราคาที่เหมาะสม รวมถึงบริการเสริมอื่นๆ นอกจากการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในภาคยานยนต์แล้ว จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรการแก้ไขปัญหาที่มาจากแหล่งกำเนิดอื่น เช่น การเผาเศษวัสดุทางการเกษตร โรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งควรดำเนินการควบคู่กันไปกับมาตรการในภาคยานยนต์ เพื่อให้ผลการแก้ไขปัญหา PM2.5 ในภาพรวมเกิดประสิทธิภาพสูงสุด 









ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง