รีเซต

จับตา ‘สี จิ้นผิง’ เยือนซาอุดีอาระเบีย เติมเต็มสุญญากาศตะวันออกกลางแทนสหรัฐฯ

จับตา ‘สี จิ้นผิง’ เยือนซาอุดีอาระเบีย เติมเต็มสุญญากาศตะวันออกกลางแทนสหรัฐฯ
TNN ช่อง16
6 ธันวาคม 2565 ( 12:55 )
46
จับตา ‘สี จิ้นผิง’ เยือนซาอุดีอาระเบีย เติมเต็มสุญญากาศตะวันออกกลางแทนสหรัฐฯ



---ผู้นำจีนเตรียมเยือนซาอุดีอาระเบีย---


The Financial Times รายงานว่า วันพฤหัสบดีนี้ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จะเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบีย เป็นครั้งแรกในรอบหกปี และยังเกิดขึ้นหลังจากห้าเดือนที่แล้ว สหรัฐฯ เตือนจีนว่า สหรัฐฯ จะไม่ยอมปล่อยภูมิภาคตะวันออกกลางให้จีนหรือใครก็ตาม


ผู้นำจีน มีกำหนดพบดับกษัตริย์ซัลมาน บิน อับดุลวาซิซ อัล ซาอุด และมกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ซึ่งเป็นผู้บริหารประเทศตัวจริง นอกจากนี้ เขาจะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดกับบรรดาผู้นำอาหรับและชาติอ่าวอาหรับด้วย


อย่างไรก็ตาม ทั้งรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย และรัฐบาลจีน ยังไม่ได้เผยข้อมูลละเอียดเกี่ยวกับการเยือนครั้งนี้ แต่มีข้อมูลว่า ทั้งสองประเทศจะลงนามข้อตกลงความร่วมมือในหลายด้าน ตั้งแต่การค้าเสรี ไปจนถึงพลังงานนิวเคลียร์


---ยกระดับความสัมพันธ์ตะวันออกกลาง---


การเยือนซาอุดีอาระเบีย ของผู้นำจีนครั้งนี้ ตอกย้ำความปรารถนาของจีนที่ต้องการยกระดับความสัมพันธ์กับภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งแต่เดิมถูกมองว่าเป็นพื้นที่ใต้อิทธิพลของสหรัฐฯ


เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้เยือนกรุงริยาด และกล่าวต่อบรรดาผู้นชาติอาหรับว่า “สหรัฐฯ จะไม่เดินออกไปและปล่อยให้เกิดสุญญากาศที่จีน รัสเซีย หรือ อิหร่าน จะเข้ามาเติมเต็ม สหรัฐฯ จะไม่ไปไหนทั้งนั้น”


อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างไบเดน และมกุฎราชกุมารซาอุดีอาระเบีย นั้นค่อนข้างตึงเครียด และแม้ผู้นำสหรัฐฯ ประกาศให้คำมั่นว่าจะยังอยู่ แต่ชาติอ่าวอาหรับมองว่า สหรัฐฯ ออกห่างจากตะวันออกกลางมากขึ้นเรื่อย ๆ และหันไปทุ่มที่ภูมิภาคอื่นแทน ในขณะที่จีน แสดงความต้องการที่จะเข้ามาอุดช่องว่างนี้


ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ในชาติอ่าวอาหรับ แสดงความชัดเจนว่า พวกเขาไม่ต้องการติดอยู่ในข้อพิพาทระหว่างสหรัฐฯ และจีน และพยายามรักษาความสัมพันธ์กับทั้งสองฝ่าย 


โดยทั้งซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ต่างพึ่งพาสหรัฐฯ ในการปกป้องและจัดหาอาวุธหนักให้ ซึ่งอาวุธหนักเหล่านี้ ยากที่ของจีนจะแทนที่ได้ แต่ซาอุดีอาระเบีย และชาติอ่าวอื่น ๆ หันไปหาจีนในแง่ความร่วมมือด้านการค้า เทคโนโลยี ตลอดจนเทคโนโลยีขีปนาวุธแบบทิ้งตัว และโดรนติดอาวุธ





---คู่ค้ารายใหญ่ของซาอุดีอาระเบีย---


นิสซา เฟลตัน ผู้จัดการอาวุโสของบริษัทที่ปรึกษา Janes IntelTrak ระบุว่า แม้ปัจจุบัน จีนไม่ใช่ภัยคุกคามต่อบทบาทของสหรัฐฯ ในฐานะผู้ดูแลด้านความมั่นคงของภูมิภาค แต่การที่จีนมีความสัมพันธ์ทางการเมืองกับตะวันออกกลางมากขึ้น ที่ใช้ผ่านการลงมติต่าง ๆ ในองค์กรระหว่างประเทศ เช่น สหประชาชาติ หรือการเปิดตัวความริเริ่มทางยุทธศาสตร์ร่วมกัน ก็อาจจะเป็นปัญหาต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ในระยะยาว


ทั้งนี้ ซาอุดีอาระเบีย ติดอันดับหนึ่งของรายชื่อประเทศที่เป็นจุดหมายปลายทางการลงทุนของจีนในภูมิภาคนี้ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ด้วยมูลค่าการลงกว่าหนึ่งแสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามมาด้วยคูเวต 9.76 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และยูเออี 4.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ


ขณะเดียวกัน ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและซาอุดีอาระเบีย เน้นไปที่เรื่องน้ำมัน โดยซาอุดีอาระเบีย คือผู้จัดหาน้ำมันรายใหญ่สุดให้แก่จีน ส่วนจีนคือคู่ค้ารายใหญ่สุดของซาอุดีอาระเบีย


อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับซาอุดีอาระเบีย นั้นไปไกลกว่าเรื่องน้ำมันแล้ว แต่เข้าไปถึงเรื่องเทคโนโลยี โดยเฉพาะความร่วมมือเกี่ยวกับเทคโนโลยี 5G ของ Huawei ซึ่งทำให้สหรัฐฯ กังวลว่า อาจจะทำให้จีนเข้ามามีโครงสร้างด้านพลังงานในประเทศกลุ่มอ่าวฯ


ทั้งนี้ สหรัฐฯ ตกลงกับซาอุดีอาระเบีย ในการพัฒนาเทคโนโลยี 5G แต่ซาอุดีอาระเบีย เลือกที่จะพัฒนาความร่วมมือกับ Huawei และยังทำให้สหรัฐฯ กังวล เพราะมีคาดการณ์ว่า ซาอุดีอาระเบีย อาจลงนามข้อตกลงกับจีน ในการจัดตั้งการค้าน้ำมันในสกุลเงินหยวน 


---ความร่วมมือจีน-อาหรับ---


ขณะเดียวกัน กระทรวงต่างประเทศจีน เผยเอกสารทางการ ที่มีชื่อว่า “รายงานเกี่ยวกับความร่วมมือจีน-อาหรับในยุคใหม่” ก่อนการเยือนซาอุดีอาระเบีย ของสี จิ้นผิง ซึ่งเป็นการชี้แจงหลักการของนโยบายที่จีนมีต่อภูมิภาคนี้


เอกสารดังกล่าวระบุว่า จีนจะไม่แสวงหาผลประโยชน์ด้านภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลาง และไม่มีสุญญากาศใดให้จีนมาเติมเต็มแทนสหรัฐฯ เพราะชาวตะวันออกกลาง คือผู้กำหนดอนาคตและชะตาของภูมิภาคตนเอง แต่จีนจะสนับสนุนชาติอาหรับในการทำงานอย่างสามัคคี เพื่อแก้ปัญหาความมั่นคงของภูมิภาค และสนับสนุนคนท้องถิ่นในการหาเส้นทางพัฒนาของตนเองที่เป็นอิสระ


ขณะเดียวกัน ภายใต้โครงการแถบและเส้นทาง ทำให้จีนเข้ามาสู่โลกอาหรับในเชิงรุก ด้วยโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและพลังงานมากกว่า 200 โครงการแล้ว


รายงานยังระบุว่า อุตสาหกรรมเกษตร การลงทุน การเงิน และอุตสาหกรรมไฮเทค คือภาคส่วนหลักของความร่วมมือจีน-อาหรับในอนาคต

————

แปล-เรียบเรียง: ธันย์ชนก จงยศยิ่ง

ภาพ: Reuters


ข้อมูลอ้างอิง:

Financial Times

ข่าวที่เกี่ยวข้อง