สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ใช้เทคโนโยีทำฟาร์มไร่ข้าวสาลีกลางทะเลทราย
ท่ามกลางความร้อนและความแห้งแล้งของทะเลทรายชาร์จาห์ (Sharjah) ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กลับมีวงกลมสีเขียวขนาดมหึมา 8 วงปรากฏอยู่ และนี่ก็คือโครงการเพาะปลูกฟาร์มปลูกข้าวสาลีกลางทะเลทราย ที่รัฐบาลพัฒนาขึ้น เพื่อหวังลดการนำเข้าอาหาร และเพิ่มความมั่นคงทางอาหารภายในประเทศ
ฟาร์มเพาะปลูกสีเขียวเพื่อลดการนำเข้าอาหาร
โดยรัฐบาลได้เปิดตัวฟาร์มขนาด 400 เฮกตาร์ หรือประมาณ 2,500 ไร่ในปี 2022 ซึ่งฟาร์มข้าวสาลีแห่งนี้ ใช้เทคโนโลยีมากมายในการควบคุมผลผลิต ไม่ว่าจะเป็น ระบบผลิตน้ำกลั่นเพื่อการชลประทาน ระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ และระบบการถ่ายภาพความร้อน เพื่อรวบรวมข้อมูลสภาพอากาศและดิน ทั้งนี้ก็เพื่อควบคุมอัตราการให้น้ำ และติดตามการเจริญเติบโตของข้าวสาลีได้อย่างต่อเนื่อง และฟาร์มแห่งนี้ ยังเป็นฟาร์มที่ปลอดการใช้ยาฆ่าแมลง สารเคมี และเมล็ดพันธุ์ดัดแปลงพันธุกรรมอีกด้วย
ส่วนประเด็นที่ผลักดัน ให้เกิดการทำฟาร์มข้าวสาลีแห่งนี้ขึ้น ก็สืบเนื่องมาจากปัญหาเกี่ยวกับห่วงโซ่อุปทานในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และสงครามยูเครน-รัสเซีย รวมถึงปัญหาความมั่นคงทางอาหาร โดยที่ผ่านมาสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ต้องนำเข้าอาหารประมาณร้อยละ 90 อย่างเช่นในปี 2022 ที่ผ่านมา ที่ต้องนำเข้าข้าวสาลีถึง 1.7 ล้านเมตริกตัน
สำหรับผลผลิตที่คาดว่าจะได้จากฟาร์มกลางทะเลทรายแห่งนี้ อยู่ที่ประมาณ 1,600 ตันต่อปี ซึ่งถือว่าปริมาณอาจจะไม่มากนัก เมื่อเทียบกับความต้องการทั้งหมด แต่ทางรัฐบาลมีแผนที่จะขยายพื้นที่ต่อไป เริ่มจาก 1,400 เฮกตาร์ หรือประมาณ 8,750 ไร่ ไปจนถึง 1,900 เฮกตาร์ หรือประมาณ 11,870 ไร่ ภายในปี 2025
ศึกษาความเป็นไปได้ เอาความท้าทายไปต่อยอด
ส่วนความท้าทายของการทำฟาร์มกลางทะเลทรายแห่งนี้ ก็คือการจัดการน้ำเพื่อการชลประทาน โดยจะต้ัองใช้ต้นทุนด้านพลังงานในการผลิตน้ำกลั่น 18,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน แต่รัฐบาลคาดการณ์ว่าต้นทุนเหล่านี้อาจจะลดลงตามสัดส่วน เมื่อโครงการขยายขนาดขึ้น
นอกจากนี้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม COP28 หรือการประชุมสุดยอดรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงประจำปี 2023 ก็ยังมีแผนสำหรับการผลิตอาหาร ที่จะใช้การรีไซเคิลน้ำ และลดของเสียให้เหลือน้อยที่สุด ดังนั้นการทำฟาร์มกลางทะเลทรายนี้อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ประเทศมีแนวทางเพิ่มความมั่นคงทางอาหารมากขึ้น และอาจจะเป็นแนวทางในการทำฟาร์มรูปแบบใหม่ที่ใส่ใจต่อสภาพการเปลี่ยนแปลงของโลกอีกด้วย
ข้อมูลจาก reuters