รีเซต

เปิดหัวใจหลัก "นมแม่ 6 เดือน" สนับสนุนให้แม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้สำเร็จ

เปิดหัวใจหลัก "นมแม่ 6 เดือน" สนับสนุนให้แม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้สำเร็จ
TNN ช่อง16
13 กรกฎาคม 2566 ( 10:48 )
134
เปิดหัวใจหลัก "นมแม่ 6 เดือน" สนับสนุนให้แม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้สำเร็จ

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เป็นรากฐานสำคัญของสุขภาพที่ดีตลอดชีวิตของลูกน้อย นมแม่มีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิดที่สำคัญสำหรับการเจริญเติบโตและการพัฒนาสมอง ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน มีแบคทีเรียและจุลินทรีย์ที่ดีต่อระบบทางเดินอาหาร และจะส่งผลต่อพัฒนาการและการเรียนรู้ไปจนถึงวัยผู้ใหญ่

“เด็กทารกอายุน้อยกว่า 6 เดือนต้องกินนมแม่อย่างเดียว โดยไม่มีน้ำ ของเหลวหรืออาหารอื่นใด และกินนมแม่ควบคู่อาหารตามวัยจนถึงอายุ 2 ปีหรือนานกว่านั้น” นโยบายของกระทรวงสาธารณสุขที่สนับสนุนให้เด็กไทยทุกคนได้กินนมแม่อย่างเต็มที่ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) โดยตั้งเป้าหมายในปี 2568 ไว้ว่า “เด็กแรกเกิด-ต่ำกว่า 6 เดือนกินนมแม่อย่างเดียวร้อยละ 50”  


ในปี ค.ศ.2018 องค์การอนามัยโลกและองค์การยูนิเซฟได้มีการทบทวนขั้นตอนของบันได 10 ขั้นสู่ความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนมากขึ้น โดยพบว่าบันไดขั้นที่ 1-5 คือแนวทางการปฏิบัติสำคัญที่จะต้องเกิดขึ้นในโรงพยาบาล คือ 1)มีนโยบายการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ 2)บุคลากรทางการแพทย์ทุกคนมีทักษะในการนำนโยบายไปปฏิบัติ 3)อธิบายให้หญิงตั้งครรภ์ทุกคนทราบถึงประโยชน์และวิธีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ 4)ช่วยแม่เริ่มให้ลูกดูดนมภายในครึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอด และ 5)สอนให้แม่รู้วิธีเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และวิธีทำให้น้ำนมคงมีปริมาณพอเพียงแม้ว่าจะต้องแยกจากลูก ซึ่งบุคลากรทุกคนล้วนมีบทบาทสำคัญที่ช่วยให้เกิดความสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

ด้วยเหตุนี้ มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย  จึงได้ดำเนิน โครงการสร้างสุขภาวะเด็กไทยด้วยนมแม่ ฝ่าวิกฤติโควิด-19 และสานพลังเครือข่ายสู่การขยายผล เพื่อสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้มีแนวทางการปฏิบัติอย่างยั่งยืนในสังคมไทย โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) 

พญ.ยุพยง แห่งเชาวนิช รองประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวถึงการสนับสนุนและส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสถานพยาบาลว่า การให้บริการของโรงพยาบาลตามแนวทาง บันได 10 ขั้นสู่ความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ (10 Steps to Successful Breastfeeding) ขององค์การอนามัยโลกและองค์การยูนิเซฟเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการดูแลและช่วยเหลือแม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้สำเร็จในสถานพยาบาล 

รศ.พญ.กุสุมา ชูศิลป์ กรรมการมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวว่าเมื่อปัจจัยความสำเร็จส่วนหนึ่งมีจุดเริ่มต้นที่โรงพยาบาล ดังนั้นแพทย์และพยาบาลจึงต้องมีความเชื่อมั่นอย่างแท้จริงว่านมแม่นั้นมีความสำคัญ ที่คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงได้เน้นที่การเรียนการสอนให้นักศึกษาแพทย์เข้าใจและเห็นความสำคัญถึงคุณค่าของนมแม่ เห็นประโยชน์ของการกินนมแม่จากเต้า และการโอบกอดเนื้อแนบเนื้อหลังคลอด 

ซึ่งความสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนนั้น เกิดจากหลายปัจจัยที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันขับเคลื่อนผ่านการสร้างความเชื่อมั่นต่อทุกภาคส่วนในสังคมว่านมแม่นั้นดีที่สุด

“นอกจากการสนับสนุนช่วยเหลือจากบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาล ตัวของแม่เองจะต้องมีความมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และภาครัฐต้องขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ หลังคลอด หรือที่ต้องกลับไปทำงาน ให้สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวจนครบ 6 เดือน โดยต้องทำควบคู่ไปกับการรณรงค์ให้สังคมไทยรับรู้ถึงความสำคัญของนมแม่ รวมไปถึงการสนับสนุนให้มีโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่-ลูกเพิ่มมาก” รองประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวสรุป

สำหรับแม่ที่กำลังตั้งครรภ์-หลังคลอด สามารถศึกษาหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพื่อเตรียมตัวอย่างถูกต้องได้ที่ www.thaibf.com หรือที่ Facebookเพจ : Thaibf และ นมแม่ หรือดาวน์โหลด Application : Everyday Doctor ของกรมอนามัยที่เปิดคลินิกนมแม่ออนไลน์ เพื่อให้คำปรึกษาแม่ที่มีปัญหาในการให้นมแม่ได้ตลอด 24 ชั่วโมง


ที่มาข้อมูล : TNN ONLINE

ที่มาภาพปก : AFP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง