รีเซต

"สัปดาห์นมแม่โลก 2566" หนุน "ลาคลอด 6 เดือน" สร้างคุณภาพเด็กไทยด้วย "นมแม่"

"สัปดาห์นมแม่โลก 2566" หนุน "ลาคลอด 6 เดือน" สร้างคุณภาพเด็กไทยด้วย "นมแม่"
TNN ช่อง16
8 สิงหาคม 2566 ( 11:44 )
100

องค์กรพันธมิตรโลกเพื่อการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ หรือ WABA : World Alliance for Breastfeeding Actions ได้กำหนดคำขวัญเพื่อรณรงค์การส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ร่วมกันใน“สัปดาห์นมแม่โลก 2566” วันที่ 1-7 สิงหาคมนี้ไว้ว่า ENABLING BREASTFEDDING Making a difference for working parents หรือ “สานพลังสร้างสรรค์สังคมนมแม่เพื่อพ่อแม่ที่ต้องทำงาน”

โดยคำขวัญปีนี้มุ่งเน้นเรื่อง การช่วยให้แม่ยังคงให้นมแม่ได้แม้ทั้งพ่อและแม่ต้องทำงาน เช่น การเก็บนมแม่ไว้ให้ลูกที่บ้านและฝากให้คนเลี้ยงเอาให้ลูก ในกรณีไม่มีคนช่วยเลี้ยงที่ไว้ใจได้ ก็จำเป็นต้องมีสถานที่ช่วยรับเลี้ยงในระหว่างแม่ไปทำงาน (เดย์แคร์นมแม่) ที่สำคัญที่สุดและเป็นการช่วยแม่ยังคงให้นมแม่ได้ คือการที่แม่ได้อยู่บ้าน โดยระยะเวลาที่มูลนิธิเสนอว่าเหมาะกับสถานการณ์ เศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน คืออนุญาต “ลาคลอด 6 เดือน” 

ทั้งนี้ปัจจุบันพบว่ามีเพียงร้อยละ 10 ของประเทศทั่วโลก ที่ดำเนินการเป็นไปตามมาตรฐานองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ในเรื่องของระยะเวลาของการลาคลอดที่ยังคงได้รับค่าแรง รวมไปถึงสิทธิ์การลาคลอดสำหรับพ่อหรือสมาชิกในครอบครัว อย่างไรก็ตามแม้จะได้รับสิทธิ์การลาคลอดและค่าแรง แต่หากขาดการสนับสนุนจากสถานที่ทำงานอย่างเหมาะสม ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้แม่ไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ 6 เดือนได้สำเร็จ

พญ.ศิริพร กัญชนะ ประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวว่า มูลนิธิฯ ได้ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสังคมไทยมานานกว่า 20 ปี เพราะประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แจ่มชัดขึ้นตลอดเวลาโดยเฉพาะเรื่องภูมิคุ้มกัน จุลินทรีย์สุขภาพ และ IQ ซึ่งมูลนิธิฯ สนับสนุนให้เด็กไทยได้กินนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิต ไม่ต้องกินแม้แต่น้ำ และกินต่อเนื่องควบคู่อาหารตามวัยจนถึงอายุ 2 ปีหรือนานกว่านั้น  

โดยจะทำต้องเริ่มต้นจากการช่วยกันสนับสนุนให้มีการดูดนมแม่บนเตียงคลอดเพื่อกระตุ้นให้น้ำนมมาเร็ว และโรงพยาบาลต่างทั้งภาครัฐและเอกชน ช่วยกันสอนแม่ให้สามารถให้นมแม่เป็นก่อนออกจากโรงพยาบาล เมื่อแม่มีปัญหาใดๆสามารถติดต่อ call center นมแม่จากแหล่งที่เชื่อถือได้ โดยตั้งเป้าไว้ว่าในปี 2568 เด็กไทยร้อยละ 50 จะได้กินนมแม่อย่างเดียวถึง 6 เดือน ซึ่งปัจจุบันกฎหมายให้แม่สามารถลาคลอดได้เพียง 3 เดือนเท่านั้น

สถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย MICs 6 พ.ศ.2565 พบว่าประเทศไทยมีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนอยู่ที่เพียงร้อยละ 28.6 และยิ่งลดลงเมื่อครบกำหนดลาคลอด 3 เดือน ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลว่า อุปสรรคสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่คือขาดการสนับสนุนจากสถานที่ทำงาน 

“มูลนิธิฯ ผลักดันนโยบายการเพิ่มสิทธิ์ลาคลอดให้กับหญิงไทย 6 เดือนให้ได้รับค่าแรงเต็มจำนวนระหว่างการลาคลอด เพื่อเด็กไทยเติบโตอย่างมีคุณภาพโดยมีจุดเริ่มต้นที่นมแม่อย่างเดียว 6 เดือน” ประธานมูลนิธิฯ กล่าวสรุป

สำหรับแม่ที่กำลังตั้งครรภ์-หลังคลอด สามารถศึกษาหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพื่อเตรียมตัวอย่างถูกต้องได้ที่ www.thaibf.com หรือที่ Facebookเพจ : Thaibf และ นมแม่ หรือดาวน์โหลด Application : Everyday Doctor ของกรมอนามัยที่เปิดคลินิกนมแม่ออนไลน์ เพื่อให้คำปรึกษาแม่ที่มีปัญหาในการให้นมแม่ได้ตลอด 24 ชั่วโมง.


ที่มาภาพปก : AFP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง