รีเซต

ไขข้อสงสัย ที่คนส่วนใหญ่เข้าใจผิด "ผ่าคลอด ให้นมลูกไม่ได้ จริงหรือ?"

ไขข้อสงสัย ที่คนส่วนใหญ่เข้าใจผิด "ผ่าคลอด ให้นมลูกไม่ได้ จริงหรือ?"
TNN ช่อง16
18 กรกฎาคม 2566 ( 08:53 )
62
ไขข้อสงสัย ที่คนส่วนใหญ่เข้าใจผิด "ผ่าคลอด ให้นมลูกไม่ได้ จริงหรือ?"

องค์การอนามัยโลก (WHO) สนับสนุนให้หญิงตั้งครรภ์คลอดลูกตามธรรมชาติ โดยแนะนำว่าอัตราการผ่าคลอดโดยรวมไว้ว่าไม่ควรเกินร้อยละ 15 เพราะหญิงตั้งครรภ์โดยปกติของมีโอกาสคลอดลูกได้เองสูงถึงร้อยละ 80-90 

สำหรับประเทศไทยในปัจจุบันมีอัตราการผ่าคลอดร้อยละ 40 ซึ่งสูงกว่าที่ทางองค์การอนามัยโลกได้แนะนำไว้ ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากความต้องการลดการเจ็บปวดจากการคลอด และมีเรื่องของการกำหนดฤกษ์ยาม แต่การผ่าคลอดนั้นมีผลกระทบต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาวต่อตัวแม่และลูกมากมาย โดยเฉพาะโอกาสของการได้รับอาหารที่ดีและมีคุณค่าที่สุดจากแม่ถึงลูกนั่นก็คือ “นมแม่” 

นอกจากนี้ทางองค์การอนามัยโลกยังกำหนดให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน เป็นตัวชี้วัดด้านโภชนาการระดับโลก ในการก้าวไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของทุกประเทศ

มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย  จึงได้ดำเนิน โครงการสร้างสุขภาวะเด็กไทยด้วยนมแม่ ฝ่าวิกฤติโควิด-19 และสานพลังเครือข่ายสู่การขยายผล เพื่อชวนทุกภาคส่วนในสังคมไทยให้มาร่วมกันในการขับเคลื่อนและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้มีการปฏิบัติอย่างยั่งยืนในสังคมไทย โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) โดยเฉพาะในประเด็นที่มีความเข้าใจไม่ถูกต้องว่าหากผ่าคลอดจะไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้

ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ ประธานสหพันธ์สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา ภาคพื้นเอเชียโอเซียเนีย เปิดเผยว่าการผ่าตัดคลอดเป็นหัตถการซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องช่วยชีวิตทั้งแม่และลูก ในกรณีที่เป็นข้อบ่งชี้ว่าจะเป็นอันตรายต่อแม่และลูก แต่ในปัจจุบันประเทศไทยมีอัตราผ่าตัดคลอดร้อยละ 40 ซึ่งมากกว่าความจำเป็นถึงสองเท่า และในโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งมีอัตราการผ่าคลอดสูงถึงร้อยละ 80-90 ซึ่งพบว่าในจำนวนนั้นบางส่วนไม่มีข้อบ่งชี้และไม่มีความจำเป็นในการผ่าตัดคลอด

“จากการประชุมวิชาการนมแม่แห่งชาติครั้งที่ 8 ยังพบข้อบ่งชี้ว่า การผ่าตัดคลอดจะลดโอกาสความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อีกด้วย เนื่องจากการผ่าคลอดจะให้ยาระงับความรู้สึก ทำให้แม่มีความพร้อมน้อยกว่าแม่คลอดผ่านช่องคลอด โดยเฉพาะในช่วงหนึ่งชั่วโมงแรกที่ถือว่าเป็นช่วงเวลาทอง ในการที่ลูกจะเริ่มดูดนมแม่และมีความผูกพัน ซึ่งมีการพิสูจน์แล้วว่าทำให้โอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้นสูงขึ้น”

แต่อย่างไรก็ดีการผ่าตัดคลอดนั้นไม่ได้เป็นข้อจำกัดและอุปสรรคที่จะทำให้ไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้อย่างที่เข้าใจผิดกันมาโดยตลอด ภายหลังผ่าตัดคลอดก็ยังสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ไม่แตกต่างไปจากการคลอดตามธรรมชาติ โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือต้องมีการเตรียมตัวและเตรียมความพร้อมให้กับหญิงตั้งครรภ์ตั้งแต่ช่วงตั้งครรภ์จนกระทั้งหลังคลอด ตามแนวทาง 10 Steps to Successful Breastfeeding  แม่และครอบครัวต้องมีความตั้งใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แพทย์และพยาบาลต้องเห็นความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และพร้อมช่วยเหลือสนับสนุนแม่ให้สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ตั้งแต่อยู่ภายในโรงพยาบาล

ที่ผ่านมามูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ได้มีการส่งเสริม และสนับสนุนเพื่อให้เกิดสังคมที่เอื้อต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ตั้งแต่ระยะการฝากครรภ์ ภายหลังคลอด และเมื่อแม่ต้องกลับไปทำงาน ให้แม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ประสบความสำเร็จ และในการประชุมวิชาการนมแม่แห่งชาติครั้งที่ 8 ที่ผ่านมาบุคลากรทางการแพทย์ทั้งภาครัฐและเอกชนก็ให้การตอบรับเป็นอย่างดี ทุกฝ่ายพร้อมที่จะสนับสนุนให้เด็กไทยได้กินนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน 

พ.ญ.ศิริพร กัญชนะ ประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวว่าการสนับสนุนให้แม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียว 6 เดือนได้สำเร็จนั้น นอกจากแม่จะต้องมีความมุ่งมั่นตั้งใจแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือบุคลากรทางการแพทย์ทั้งหมอและพยาบาลจะต้องตระหนักและเห็นความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และพร้อมที่จะให้การสนับสนุนในทุกๆ ด้าน

สำหรับแม่ที่กำลังตั้งครรภ์-หลังคลอด ดูข้อมูลการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ที่ www.thaibf.com Facebook : Thaibf และ นมแม่ และ Application : Everyday Doctor ของกรมอนามัยที่เปิดคลินิกนมแม่ออนไลน์ เพื่อให้คำปรึกษาแม่ที่มีปัญหาในการให้นมแม่ได้ตลอด 24 ชั่วโมง.

ที่มาข้อมูล : มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย

ที่มาภาพ : TNN

ข่าวที่เกี่ยวข้อง