รีเซต

"โรคฝีดาษลิง" รายแรกในไทย เป็นสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก สัมผัสเสี่ยงสูง 2 ราย

"โรคฝีดาษลิง" รายแรกในไทย เป็นสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก สัมผัสเสี่ยงสูง 2 ราย
TNN ช่อง16
22 กรกฎาคม 2565 ( 11:00 )
107

ภายหลังจากที่ กรมควบคุมโรค ได้รับแจ้งจากโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดภูเก็ต พบผู้ป่วยสงสัย "โรคฝีดาษลิง" (Monkeypox) จึงส่งทีมลงพื้นที่สอบสวนโรคนั้น

ความคืบหน้าล่าสุด วันนี้ (22 ก.ค.65) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวอย่างเป็นทางการกรณีการพบผู้ป่วย "โรคฝีดาษลิง" (Monkeypox) รายแรกในไทยว่า ภาพรวมประกาศกระทรวงสาธารณสุขโดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข 

ประกาศให้ "ฝีดาษวานร" เป็น "โรคติดต่อเฝ้าระวัง" ลำดับที่ 56  อาการ คือ ไข้ ปวด ศรีษะ ต่อมน้ำเหลืองบวมโตเจ็บคอ มีตุ่มหนองขึ้น ที่ผิวหนัง ศีรษะ ลำตัว อวัยวะเพศ และตามร่างกาย

เมื่อประกาศเป็น "โรคติดต่อเฝ้าระวัง" แล้วมาตรการดำเนินงานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร รวมถึงเจ้าพนักงานควบคุมโรค จะต้องมีการจัดทำแผนปฏิบัติการ ควบคุมโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง และต้องรายงานสถานการณ์ของโรคเหตุที่สงสัยที่อาจเกิดการระบาดต่ออธิบดีกรมควบคุมโรค 

ขณะที่ กรณี รพ.แห่งหนึ่ง ใน จ.ภูเก็ต ได้มีการรายงาน พบ ผู้ป่วยเพศชาย ชาวไนจีเรีย อายุ 27 ปี มีอาการต้องสงสัยเข้ากับ "โรคฝีดาษลิง" เนื่องจากมีตุ่มขึ้นที่ผิวหน้าและร่างกายรวมถึงอวัยวะเพศ 

ต่อมา ได้มีการส่งตัวอย่างไปตรวจที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และพบผลบวก ซึ่งได้มีการส่งตัวอย่างเชื้อ บริเวณตุ่มหนอง ไปตรวจเพิ่มเติมที่ห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยได้ยืนยันตรงกันเมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา

ขั้นตอนต่อไป คือ การรวบรวมข้อมูลของผู้ป่วยรายนี้ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลทางคลินิกทางระบาดวิทยา เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการวิชาการใน พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ เพื่อยืนยัน 

โดยมีมติให้แจ้งเตือนต่อประชาชนและให้โรงพยาบาลรวบรวมข้อมูลผู้ป่วยทางคลินิก ที่สงสัยยืนยันให้องค์การอนามัยโลก (WHO) ทราบต่อไป

โดยในรายที่สงสัยจะต้องมีการสอบสวนควบคุมโรคทันที ซึ่งจะต้องไปหาผู้ป่วยสัมผัสเสี่ยงสูงทำการคัดกรอง


นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า สำหรับในผู้ป่วยชายรายดังกล่าว คาดว่าเป็น "สายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก" ซึ่งมีความรุนแรงน้อยกว่า "สายพันธุ์แอฟริกากลาง" โดยอยู่ระหว่างการตรวจยืนยันจากห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม

นอกจากนี้ ยังพบว่า มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 2 ราย ซึ่งเป็นเพื่อนของผู้ป่วย ยังไม่ได้มีอาการป่วยอย่างใด ซึ่งได้มีการส่งตรวจตัวอย่างแล้ว ผลล่าสุดยังไม่พบ "โรคฝีดาษลิง" ซึ่งได้ทำการกักตัว 21 วัน 

และได้มีการคัดกรองเชิงรุกในพื้นที่เสี่ยงต่างๆ เช่น สถานบันเทิง ที่ผู้ป่วยโดยพบผู้ป่วยที่มีอาการ ไข้เจ็บ คอ จำนวน 6 ราย ได้มีการส่งตรวจตัวอย่างเชื้อที่ห้องปฏิบัติการ โดยเบื้องต้นยังไม่พบ "โรคฝีดาษวานร" และให้ทำการกักตัว 21 วัน

ส่วนกรณีที่มีการรายงานว่า ผู้ป่วยชายชาวไนจีเรีย ได้มีการหนีออกจากโรงพยาบาลนั้น ทางอธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า ในรายละเอียดขอให้ทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดภูเก็ตเป็นผู้ชี้แจง

ทั้งนี้ สถานการณ์การพบผู้ป่วยฝีดาษลิงทั่วโลก ตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา รวมผู้ป่วยทั่วโลก 12,608 ราย ใน 66 ประเทศ ถึงแม้จะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น แต่อัตราการแพร่ระบาดยังไม่ได้เร็ว 

ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน มีรายงานที่ประเทศสิงคโปร์ ไต้หวัน อินเดีย เป็นต้น โดยพบมากที่สุดในประเทศสเปน 2,000 กว่าราย นอกจากนี้ ข้อมูลจากการพบผู้ป่วย "ฝีดาษลิง" พบว่าส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย

โดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพฯให้มีการเฝ้าระวังในผู้ป่วย โดยเฉพาะทางคลินิกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หากพบมีอาการเข้าข่ายสงสัย จะต้องมีการ ส่งตรวจตัวอย่างเชื้อ และสอบสวนโรคทันที

อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนไม่ต้องกังวล เพราะไม่ได้ติดเชื้อง่ายเหมือนกับโควิด-19  เพราะการติดเชื้อโรคฝีดาษลิง จะต้องมีการใกล้ชิดกับผู้ป่วย และสัมผัสตุ่มหนอง แผลสะเก็ดต่างๆ โดยไม่ติดต่อผ่านระบบทางเดินหายใจ โดยขอให้หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกันล้างมือบ่อยๆ โดยระยะเวลาของโรคฝีดาษลิงไม่นานและจะหายไปในที่สุด

นพ.โอกาส กล่าวว่า สำหรับยาต้านไวรัส โดยเฉพาะฝีดาษลิงยังไม่มี ส่วนใหญ่จะรักษาตามอาการและรักษาหายได้เอง ขณะเดียวกันกรมควบคุมโรค อยู่ระหว่างจัดหาวัคซีนโรคฝีดาษลิง รวมถึงเรามี "วัคซีนโรคฝีดาษ" ที่องค์การเภสัชกรรมสำรองไว้ แต่ข้อบ่งใช้ที่จะฉีดให้กับประชาชน ตอนนี้ยังไม่มีความจำเป็นที่ต้องฉีดให้กับประชาชน เพราะต้องดูเรื่องประสิทธิภาพความปลอดภัยก่อน.



ภาพจาก แถลงข่าวกรมควบคุมโรค

ข่าวที่เกี่ยวข้อง