จีนบูรณะ 'วัดแบบทิเบต' เก่าแก่ 300 ปี ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่
หลานโจว, 22 มี.ค. (ซินหัว) -- วัดลาบรัง (Labrang Monastery) หรือที่รู้จักกันในชื่อ "สถาบันทิเบตศาสตร์แห่งโลก" ได้เริ่มดำเนินโครงการบูรณะซ่อมแซมแบบกึ่งปิดครั้งใหญ่ตั้งแต่ปี 2012 และยกระดับการปกป้องโบราณวัตถุทางวัฒนธรรมด้วยวิธีการที่ทันสมัย ทำให้จนถึงขณะนี้งานซ่อมแซมหลักของอุโบสถ 14 แห่ง อันรวมถึงอุโบสถเซี่ยปู่ตันและอุโบสถพระศรีอริยเมตไตรย เสร็จสิ้นลงแล้ว และอยู่ระหว่างรอตรวจรับโดยหน่วยงานบริหารโบราณวัตถุทางวัฒนธรรมแห่งชาติ ขณะที่ภาพวาดสีน้ำมันและภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในสิ่งปลูกสร้างบางแห่งกำลังอยู่ระหว่างการซ่อมแซม
โจวหัวต้าวจี๋ หัวหน้าโครงการฯ จากสำนักวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวอำเภอเซี่ยเหอ เผยว่าโครงการดังกล่าวถือเป็นโครงการบูรณะซ่อมแซมขนาดใหญ่ครั้งแรกของวัดในรอบกว่า 300 ปี ด้วยเงินลงทุนรวมกว่า 400 ล้านหยวน (ราว 2.1 พันล้านบาท) โดยแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ การคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรม การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน และการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการท่องเที่ยว
โจวกล่าวว่าการซ่อมแซมยึดหลักบูรณะของเก่าให้คงสภาพเดิม โดยรักษาไว้ซึ่งลักษณะพิเศษของสถาปัตยกรรมทิเบตแบบดั้งเดิม ทั้งยังมีการประยุกต์ใช้วิธีการที่ทันสมัยในการซ่อมแซมโบราณวัตถุทางวัฒนธรรม การปรับปรุงระบบไฟฟ้า การป้องกันอัคคีภัย และระบบรักษาความปลอดภัยอื่นๆ
การปกป้องตำราโบราณยังถือเป็นส่วนสำคัญของการคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมของวัดลาบรัง เนื่องจากหอพระไตรปิฎกของวัดเป็นแหล่งเก็บรักษาตำราโบราณหายากกว่า 68,000 เล่ม โดยเป็นเอกสารมากกว่า 10 ประเภท อาทิ ปรัชญา พุทธศาสนานิกายวัชรยาน ตำรายา ดาราศาสตร์ และประวัติศาสตร์ ตลอดจนคัมภีร์และหนังสือหายากอีกหลายเล่มที่เขียนด้วยน้ำแป้งล้ำค่า เช่น น้ำทองคำ น้ำเงิน ปะการัง และไข่มุก จนหอพระไตรปิฎกแห่งนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งอนุรักษ์ตำราโบราณแห่งชาติในปี 2009
มีการติดตั้งด้วยถังดับเพลิงทรงกลม เครื่องตรวจจับควันไฟ สัญญาณเตือนภัย และอุปกรณ์ป้องกันอัคคีภัยอื่นๆ ในหอพระไตรปิฎก คัมภีร์และตำราถูกจัดเรียงบนชั้นหนังสือตามประเภทอย่างเป็นระเบียบ โดยสั่วหนานมู่ สมาชิกคณะกรรมการจัดการมรดกทางวัฒนธรรมของวัด กล่าวว่าเหล่าพระสงฆ์ได้ผลัดเปลี่ยนเวรกันเข้ามาจัดเรียงพระคัมภีร์และตำราเหล่านี้อย่างสม่ำเสมอ
"การบูรณะซ่อมแซมวัดลาบรังไม่เพียงช่วยปกป้องมรดกทางวัฒนธรรมในวัดเท่านั้น แต่ยังยกระดับการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ทำให้วัดเก่าแก่แห่งนี้กลับมาดูใหม่เอี่ยมอีกครั้ง เพื่อจะได้ให้บริการนักท่องเที่ยวได้ดียิ่งขึ้น" สั่วเสริม
ทั้งนี้ วัดลาบรัง ซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอเซี่ยเหอ แคว้นปกครองตนเองกานหนาน กลุ่มชาติพันธุ์ทิเบต มณฑลกานซู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน เริ่มก่อสร้างในปี 1709 และถูกจัดให้เป็นหนึ่งในวัดขนาดใหญ่ที่สุดของพุทธศาสนาทิเบตนิกายเกลุก (Gelug) ก่อนจะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญระดับชาติในปี 1982
[caption id="attachment_271739" align="aligncenter" width="900"] (แฟ้มภาพซินหัว : ภาพวาดทังกาในวัดลาบรัง วันที่ 4 มี.ค. 2022)[/caption][caption id="attachment_271735" align="aligncenter" width="900"] (แฟ้มภาพซินหัว : สิ่งปลูกสร้างในวัดลาบรัง วันที่ 4 มี.ค. 2022)[/caption][caption id="attachment_271737" align="aligncenter" width="900"] (แฟ้มภาพซินหัว : สิ่งปลูกสร้างในวัดลาบรัง วันที่ 4 มี.ค. 2022)[/caption][caption id="attachment_271732" align="aligncenter" width="900"] (แฟ้มภาพซินหัว : บรรยากาศภายในวัดลาบรัง วันที่ 4 มี.ค. 2022)[/caption][gallery type="thumbnails" columns="1" size="full" ids="271729,271726,271730,271731,271741,271733"][playlist type="video" ids="271725"]