QR Code สุดอร่อย ! ญี่ปุ่นพัฒนา QR Code ซ่อนในคุกกี้ สแกนข้อมูลโภชนาการได้ไม่ต้องใช้ฉลาก
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโอซาก้าในประเทศญี่ปุ่น ได้พัฒนาวิธีการฝัง QR Code ไว้ในคุกกี้โดยใช้การพิมพ์สามมิติ เพื่อลดขยะจากการพิมพ์ฉลากอาหารบนกล่องบรรจุภัณฑ์ โดยหวังว่าจะเป็นวิธีการนำเสนอข้อมูลโภชนาการแบบใหม่ที่ให้ผู้บริโภคสแกนอ่านข้อมูลจาก QR Code ในคุกกี้ได้ โดยที่ไม่ต้องเพิ่มขยะให้โลก
ยามาโตะ มิยาทาเกะ (Yamato Miyatake) หัวหน้าทีมวิจัยกล่าวว่า ปัจจุบันมีการใช้เครื่องพิมพ์สามมิติ เพื่อพิมพ์อาหารออกมามากมาย ทีมวิจัยจึงได้พัฒนาวิธีการพิมพ์สามมิติบนอาหารที่เรียกว่า อินทีเรียเคอร์ (Interiqr) ซึ่งมาจากคำว่า อินทีเรีย คิวอาร์ (interior QR) หรือการพิมพ์ QR Code ภายในขึ้น โดยเป็นเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติบนอาหาร ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อรสชาติหรือหน้าตาของอาหาร และยังใช้ส่วนผสมที่ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์
ส่วนเหตุผลที่เลือกพิมพ์คุกกี้ เนื่องจากภายในของคุกกี้ สามารถเว้นช่องว่างเพื่อแทรกชั้นตัวพิมพ์ของ QR Code ได้ และเมื่อนำคุกกี้ไปอบเรียบร้อย ก็จะเหลือช่องว่างบางส่วนตามร่องรอยของ QR Code ด้านในที่ยังคงอยู่ ดังนั้นเมื่อผู้บริโภคอยากจะสแกนข้อมูลจาก QR Code ในคุกกี้ ก็เพียงแค่เอาแสงไฟส่องด้านหลังของคุกกี้ ก็จะปรากฏเป็นเงาให้เราใช้โทรศัพท์มือถือสแกนเพื่ออ่านข้อมูลได้โดยง่าย สามารถใส่เป็นข้อมูลโภชนาการ เช่น ส่วนผสม วันเดือนปีที่หมดอายุ หรือจะปรับเป็น QR Code เพื่อสั่งการทำงานของอุปกรณ์อื่น ๆ ก็ได้เช่นกัน
โดยทีมวิจัยได้ลองต่อยอดเอาคุกกี้ QR Code นี้ ซ่อนคำสั่งชงกาแฟไว้ภายใน เมื่อเอาคุกกี้ QR Code ไปตั้งบนอุปกรณ์เครื่องชงกาแฟที่สามารถอ่านคำสั่งผ่าน QR Code ได้ มันก็จะเริ่มชงกาแฟตามคำสั่งที่อ่านได้โดยอัตโนมัติ ซึ่งต่อไปเราอาจจะใช้วิธีการนี้ต่อยอดไปเป็นคำสั่งใช้งานอื่น ๆ ได้ด้วย
สำหรับเทคโนโลยี QR Code มาจากคำว่า Quick Response Code เป็นสัญลักษณ์แทนข้อมูลต่างๆ ที่สามารถอ่านหรือตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว และเก็บข้อมูลเป็นชุดพิกเซลในตารางสี่เหลี่ยม ซึ่งสามารถใช้งานกับโทรศัพท์มือถือได้ง่าย เนื่องจากส่วนใหญ่จะติดตั้งตัวอ่าน QR Code มาแล้ว
และถึงแม้ตอนนี้เทคโนโลยีการพิมพ์ QR Code ในอาหารที่ทีมวิจัยพัฒนาขึ้น จะยังจำกัดอยู่แค่อาหารที่ค่อนข้างโปร่งแสงเท่านั้น แต่ทีมวิจัยก็หวังว่าท้ายที่สุดแล้ว มันจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้กับผู้ผลิต และผู้บริโภค ในการใช้งานสลากอาหารแบบใหม่ที่กินได้ในตัว ลดการใช้ฉลากพิมพ์กระดาษหรือพลาสติกที่เราใช้อยู่ประจำ เพื่อลดขยะจากการพิมพ์บรรจุภัณฑ์เหล่านี้ได้มากขึ้น
ข้อมูลจาก newatlas, gizmodo, eurekalert, kaspersky
ภาพจาก eurekalert, nerdist