นักวิทย์อิสราเอลจำลองวิธี “ปลูกมนุษย์” โดยไม่ต้องพึ่งสเปิร์ม หรือไข่ แค่ใช้สเต็มเซลล์เท่านั้น
ในทางวิทยาศาสตร์ การให้กำเนิดชีวิตมนุษย์จะเริ่มต้นเมื่อมีการปฏิสนธิระหว่างสเปิร์ม (Sperm) ของเพศชาย กับไข่ในเพศหญิง ซึ่งอาจเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ตามธรรมชาติ หรือเป็นการผสมเทียม และไข่ที่รับสเปิร์มจนเกิดการปฏิสนธิจะวิวัฒนาการเป็นสภาวะที่เรียกว่าเอ็มบริโอ (Embryo) ซึ่งเป็นการแบ่งตัวของเซลล์ก่อนจะเจริญเติบโตไปเป็นอวัยวะเริ่มต้นบางส่วนของทารกในครรภ์
แต่กระบวนการทั้งหมดนี้อาจถูกล้มล้างด้วยงานวิจัยใหม่ล่าสุดจากอิสราเอล โดยทีมนักวิจัยสามารถสร้างแบบจำลอง (Model) การวิวัฒนาการของเอ็มบริโอในระยะวันที่ 14 หลังการปฏิสนธิได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีการปฏิสนธิระหว่างไข่และสเปิร์มเกิดขึ้นเลย ซึ่งโมเดลนี้เป็นการสร้างจากสเต็มเซลล์ในมนุษย์เพียงอย่างเดียว
วิธีสร้างโมเดลจำลองตัวอ่อนของมนุษย์
ทีมนักวิจัยจากสถาบันวิทยาศาสตร์ไวซ์มันน์ (Weizmann Institute of Science) ในอิสราเอล ได้นำสเต็มเซลล์ (Stem cell) หรือเซลล์ตั้งต้นก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภายในไปเป็นอวัยวะหรือเซลล์แบบอื่น ๆ (เซลล์คือหน่วยย่อยสุดของชีวิต การรวมตัวของเซลล์สามารถก่อให้เกิดอวัยวะต่าง ๆ ได้) มากระตุ้นเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางชีววิทยา
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้ทำให้สเต็มเซลล์แบ่งออกเป็นเซลล์สำคัญที่ต้องเกิดขึ้นหลังการปฏิสนธิ 4 ชนิด และเซลล์ทั้ง 4 ชนิด จำนวน 120 เซลล์ ได้เกิดการรวมตัวและเปลี่ยนแปลงไปสู่ระยะเอ็มบริโอระยะวันที่ 14 ตามองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์
โดยเซลล์ทั้ง 4 ชนิด คือ Epiblast cell ซึ่งหากอยู่ถึง 8 สัปดาห์จะกลายเป็นตัวอ่อนระยะที่เรียกว่าโฟตัส (Foetus), Trophoblast cell ซึ่งจะวิวัฒนาการกลายเป็นรก, Hypoblast cell ซึ่งจะกลายเป็นถุงไข่แดงสำหรับตัวอ่อน, และ Extraembryonic mesoderm cell ที่จะกลายเป็นอวัยวะและกระดูกในอนาคต
โมเดลจำลองตัวอ่อนของมนุษย์ยังไม่ใช่การ “ปลูกมนุษย์” ในตอนนี้
อย่างไรก็ตาม จาคอบ ฮันนา หัวหน้าทีมวิจัย กล่าวว่า “คำถามก็คือ เมื่อไหร่ที่แบบจำลองเอ็มบริโอจะถูกมองเป็นเอ็มบริโอจริง ๆ คำตอบก็คือเมื่อมันเกิดขึ้น เราจะรู้ และเข้าใจขั้นตอนว่าต้องทำอย่างไร ตอนนี้ยังไกลจากจุดนั้นอยู่มากจริง ๆ” หรือสรุปได้ว่าโมเดลนี้ยังไม่ได้เป็นการเข้าสู่ยุคของการ “ปลูกมนุษย์” ในเร็ววันนี้
โดยทางทีมวิจัยมองว่าโมเดลนี้สามารถใช้ศึกษาผลกระทบของยาที่มีต่อการตั้งครรภ์ หรือในอนาคตอาจจะใช้เป็นแหล่งสร้างอวัยวะหรือเนื้อเยื่อใหม่ให้กับผู้ป่วย โดยใช้สเต็มเซลล์ของผู้ป่วยเองมาเป็นวัตถุดิบได้ อย่างไรก็ดี งานวิจัยนี้ไม่สามารถพัฒนาโมเดลเอ็มบริโอให้มีอายุเกินกว่า 14 วัน ตามหลักจริยธรรมทางวิทยาศาสตร์
งานวิจัยชิ้นนี้ตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการชื่อดังอย่างเนเชอร์ (Nature) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แม้ว่าตัวงานจะถูกตั้งคำถามว่าเหมาะสมในเชิงศีลธรรมและจริยธรรมทางการวิจัยหรือไม่ แต่ตัวงานชิ้นนี้ได้เปิดทางการศึกษาช่วงเจริญเติบโตระหว่างปฏิสนธิจนถึงระยะเอ็มบริโอที่ยังเป็นปริศนา โดยหันมาใช้โมเดลนี้ในการสร้างองค์ความรู้ผ่านการทดลองต่อไป
ที่มารูปภาพ Reuters