"รับคำขอโทษเป็นเงินสด" การกระทำแบบใดเข้าข่ายหมิ่นประมาทอ่านด่วน!
วันนี้( 20 ม.ค.65) ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร.) ได้โพสต์ข้อความให้ความรู้ผ่านเพจเฟซบุ๊ก PCT Police
โดยระบุข้อความว่า "#ด่าฟรีไม่มีในโลก สังเกตเห็นว่า วลี "รับคำขอโทษเป็นเงินสด" มักได้ยินกันอยู่บ่อยๆในปัจจุบัน และจากสถิติการรับแจ้ง ของ ปอท.ยืนยันว่า คดีประเภทนี้ สูงที่สุดในปี 2564 ความคิดเห็นเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ใครๆ สามารถแสดงออกกันได้ แต่ก็นั่นแหละ มันก็ต้องไม่ไปกระทบสิทธิของคนอื่นเขาด้วยนะ และการแสดงคิดเห็นเนี่ย บางครั้งเลยเถิดไป บูลลี่ ด่าทอ ทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกเกลียดชัง มิหนำซ้ำ เป็นเรื่องไม่จริง ผู้เสียหายเขามีสิทธิที่จะฟ้องร้องทั้งทางแพ่ง และอาญา
หากไม่แน่ใจว่าการกระทำแบบใดจะเข้าข่ายหมิ่นประมาทให้อ่านตรงนี้ให้ดี ๆ การใส่ความผู้อื่น ถือเป็นการหมิ่นประมาท ซึ่งหมายถึงการแสดงพฤติกรรมอันเป็นข้อเท็จจริงประการใด ประการหนึ่งของผู้ถูกหมิ่นประมาท โดยอาจกระทำด้วยวาจา กิริยาท่าทาง การเขียน พิมพ์ หรือวิธีการใด ที่ปรากฏเป็นภาพ หรือลักษณะอื่นใดที่ทำให้บุคคลที่สามเข้าใจได้ว่าหมายถึงใคร ซึ่งอาจทำให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชังจะไม่อธิบายกฏหมายให้เข้าใจยาก แต่จะสรุปภาพรวมๆให้ฟังว่า การนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จเนี่ย ผิดแหงมๆอยู่แล้วตามพรบ.คอมฯ
แต่ถึงข้อความนั้นจะเป็นจริง แต่มันทำให้คนอื่นถูกดูหมิ่นเกลียดชัง เสียชื่อเสียง มันก็อาจจะไปเป็นความผิดฐานหมื่นประมาทด้วย หลักคิดง่ายๆ ถีงเขาจะเป็นอย่างไร เราก็ไม่มีสิทธิไปต่อว่าเขา ให้เขาเสียหาย ถ้าเขาเอาผิด เขาจะฟ้องเรียกค่าเสียหายก็ได้ และหากเขาจะดำเนินคดี เราก็มีสิทธิติดคุกเหมือนกัน"
ข้อมูลจาก PCT Police
ภาพจาก AFP