“พิชัย”ชี้ภาษีเงินได้ไทยสูงกว่ามาตรฐานเร่งบูรณาการเทียบคู่แข่ง
“พิชัย”ชี้ภาษีเงินได้”นิติบุคคล-บุคคลธรรมดา”ของไทยสูงกว่ามาตรฐานสากล เร่งบูรณาการเทียบคู่แข่ง หนุนจีดีพีขยายตัวในระดับศักยภาพ 3.5% เผยเตรียมออกมาตรการช่วยลูกหนี้กลุ่มบ้านและรถยนต์
#ทันหุ้น นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวปาฐกถาในงาน ACMA Business Forum 2024 ในหัวข้อ Shaping Tomorrow ว่า อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของไทย สูงกว่ามาตรฐานสากล และเทียบกับประเทศคู่แข่ง ดังนั้น เราจะต้องบูรณาการภาษีทั้งระบบ
เขากล่าวว่า ปัจจุบันอัตราภาษีทั้งสองตัวดังกล่าวนั้น ในหลายๆประเทศมีการปรับลดลง และในระดับ International standard ก็มีแนวโน้มที่จะปรับภาษีดังกล่าวลงมา และสำหรับภาษีมูลค่าเพิ่มนั้นทุกประเทศก็มีการศึกษา ไทยก็เคยมีการศึกษามาเป็นระยะ
ทั้งนี้ สำหรับภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นเรื่องของการบริโภค ที่ใครบริโภคมากก็ต้องจ่ายภาษีมากกว่าคนบริโภคน้อยกว่า เราเลือกไม่ได้ว่าจะเก็บภาษีกลุ่มไหนสูงกว่ากัน เราจำเป็นต้องเก็บเท่ากัน แต่เราอาจจะเอารายได้ส่วนหนึ่งของภาษีมูลค่าเพิ่มไปช่วยคนที่มีรายได้น้อย
เขากล่าวว่า ประเทศไทยเคยเป็น Emerging Market เมื่อช่วงปี 2523-2528 โดยจีดีพีของประเทศขยายตัวสูงถึง 9-10% ต่อปี ซึ่งส่วนหนึ่งอาจมาจากฐานที่ต่ำ แต่ในช่วงนั้นการลงทุนของประเทศก็ขยายตัวสูง โดยสัดส่วนการลงทุนของประเทศคิดเป็นถึง 40-50%ของจีดีพี ขณะที่ ปัจจุบันอยู่ที่ราว 19-20%เท่านั้น ทำให้ช่วงหลังๆมานี้เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำลง โดยใน 5 ปีที่ผ่านมา เราขยายตัวเฉลี่ยที่ 0% แต่หักช่วงโควิดออกไป เศรษฐกิจไทยก็ยังขยายตัวเฉลี่ยเพียง1.9%เท่านั้น ทั้งๆที่ศักยภาพของเศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้ในระดับ 3.5% ซึ่งหากเราไม่ทำอะไร ศักยภาพของประเทศก็อาจเปลี่ยนแปลงต่ำลงได้
เขายังกล่าวถึง นโยบายแก้ไขปัญหาหนี้ของประชาชนว่า กระทรวงการคลังจะหาแนวทางเข้าไปช่วยปรับโครงสร้างหนี้ที่อยู่อาศัย รวมถึง หนี้จากการซื้อรถยนต์อย่างไรก็ดี การปรับโครงสร้างหนี้ดังกล่าวไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ถ้าลูกค้ากลุ่มนี้สามารถอยู่รอดได้ ในอนาคตคนเหล่านี้ก็จะกลับมาเป็นลูกค้าของธนาคารพาณิชย์ แม้ว่าขณะนี้สถาบันการเงินยังเข้มแข็ง แต่หากปล่อยให้ลูกหนี้กลายเป็นหนี้เสียมากขึ้น ความเข้มแข็งของสถาบันการเงินก็อาจลดลง
เขากล่าวอีกว่า ปัจจุบันสถาบันการเงินได้ตั้งสำรองหนี้ในกลุ่มดังกล่าวไว้หมดแล้ว หรือเป็นการตัดค่าใช้จ่ายเหล่านั้นออกจากบัญชีแล้ว แต่สถาบันการเงินก็ยังมีกำไรสูง ดังนั้นก็เชื่อว่าการแก้ไขปัญหาหนี้ของสถาบันการเงิน เพื่อช่วยลูกค้า จึงน่าจะต้นทุนที่ถูกลงสำหรับธนาคาร
เขายังกล่าวถึง ค่าเงินว่า มีผลต่อรายได้จากการส่งออกของประเทศ ซึ่งไทยส่งออกคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 65%ของจีดีพี การที่ค่าบาทอ่อนตัวลงทำให้เราได้รับเงินบาทมากขึ้น เช่น แทนที่จะได้รับ 35บาท/เหรียญ ในปัจจุบัน ถ้าเป็น47บาท/เหรียญก็จะทำให้ได้รับเงินบาทจากการส่งออกมากขึ้น แต่ทั้งนี้คงจะต้องปล่อยให้เป็นไปตามกลไกธรรมชาติ