รีเซต

"ควีนเอลิซาเบธที่ 2" ราชินีผู้ก้าวไปพร้อมกับโลกที่เปลี่ยนแปลง

"ควีนเอลิซาเบธที่ 2" ราชินีผู้ก้าวไปพร้อมกับโลกที่เปลี่ยนแปลง
TNN ช่อง16
19 กันยายน 2565 ( 05:31 )
112
"ควีนเอลิซาเบธที่ 2" ราชินีผู้ก้าวไปพร้อมกับโลกที่เปลี่ยนแปลง

The Straits Times รายงานว่า ความสำเร็จสูงสุดของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2  ก็คือการรักษาความนิยมของสถาบันกษัตริย์ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา และนำสถาบันกษัตริย์ไปสู่โลกสมัยใหม่ เปิดกว้างและเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองสังคมและวัฒนธรรม


*** ราชินีที่มีอายุน้อย ***


เจ้าหญิง เอลิซาเบธ อเล็กซานดรา แมรีวินด์เซอร์ ประสูติเมื่อวันที่ 21 เมษายน 1926   จากเจ้าหญิงผู้ไม่เคยคาดหวังว่าจะได้ขึ้นครองบัลลังก์ กลับมีชะตาชีวิตที่เปลี่ยนไป หลังจากสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8  ซึ่งเป็นพระปิตุลา หรือลุงของพระองค์ สละราชสมบัติ เพื่อไปสมรสกับ “วอลลิส ซิมป์สัน” ม่ายสาวชาวอเมริกันผู้ผ่านการหย่าร้างมาแล้วสามรอบ ทำให้ เจ้าหญิงเอลิซาเบธ  เลื่อนขึ้นมาลำดับที่ 2 ในการสืบราชบัลลังก์ ต่อจากสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 พระราชบิดา  


หลังจากพระบิดาสวรรคต ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 1952  พระองค์ต้องขึ้นเป็นสมเด็จพระราชินี ระหว่างการเยือนเคนยา ด้วยพระชนมายุ 25 พรรษา   โดยมี วินสตัน เชอร์ชิลล์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรก จาก 15 ในรัชสมัยของพระองค์


ควีนเอลิซาเบธ ตรัสในสารคดีเมื่อปี 1992 ว่า พระองค์ไม่ได้มีเวลาเตรียมตัวมาก่อนเลย เสด็จพ่อจากไปขณะที่ยังทรงมีพระชนมายุไม่มากนัก ดังนั้นจึงเป็นเรื่องกะทันหันที่ต้องเข้ารับหน้าที่ แต่จะทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ในทันที


รัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เริ่มขึ้นท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงผันผวนอย่างรวดเร็วของสถานการณ์โลก  ทำให้จักรวรรดิอังกฤษต้องดำเนินมาถึงจุดจบในที่สุด โดยขณะที่เสด็จเยือนประเทศเครือจักรภพเมื่อปลายปี 1953 หลายประเทศในจำนวนนั้นซึ่งรวมถึงอินเดียต่างได้รับเอกราชและแยกตัวเป็นอิสระออกไป 


อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ร้อยประเทศที่เป็นอดีตอาณานิคมของอังกฤษเอาไว้ด้วยกันได้ในยุคใหม่ คือการเป็นสมาชิกเครือจักรภพ ที่บางส่วนยกย่องให้สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองเป็นองค์ประมุขสูงสุด


นอกจากนี้ ยังต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ทางการเมืองหลายครั้งในช่วงต้นรัชสมัย โดยส่วนใหญ่มาจากการที่ต้องทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากพรรคอนุรักษ์นิยม โดยที่ทางพรรคขาดกระบวนการเลือกสรรผู้นำที่แน่นอน จนทำให้เกิดความขัดแย้งและสับสนวุ่นวายขึ้น 


สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงต้องเผชิญกับการโจมตีในเรื่องส่วนพระองค์ด้วยเช่นกัน ว่า ราชสำนักของพระองค์นั้นมีความเป็นชนชั้นสูงแบบอังกฤษมากเกินไป 


แม้การแสดงความเห็นดังกล่าวจะทำให้เกิดความไม่พอใจขึ้นในหมู่ประชาชนชาวอังกฤษ แต่ก็สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองของคนรุ่นใหม่ที่มีต่อสถาบันกษัตริย์ว่ากำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว 


ในช่วงปลายทศวรรษ 1960 สำนักพระราชวังบักกิงแฮมเริ่มดำเนินนโยบายนำเสนอภาพลักษณ์ใหม่ของพระราชวงศ์อังกฤษในรูปแบบที่เป็นทางการน้อยลง แต่ดูผ่อนคลายและเข้าถึงได้ง่าย โดยอนุญาตให้บีบีซีเข้าถ่ายทำภาพยนตร์สารคดีซึ่งถ่ายทอดกิจกรรมในชีวิตประจำวันของพระราชวงศ์


- อุบัติเหตุทางรถยนต์ที่กรุงปารีสในปี 1997 ซึ่งทำให้เจ้าหญิงไดอานาแห่งเวลส์สิ้นพระชนม์ ส่งผลสะเทือนต่อภาพลักษณ์ของราชวงศ์อังกฤษอย่างมากอีกครั้ง มีผู้แสดงความไม่พอใจที่สมเด็จพระราชินีนาถและสำนักพระราชวังนิ่งเฉยเย็นชาต่อเหตุการณ์ดังกล่าว  ในที่สุดสมเด็จพระราชินีนาถได้มีพระราชดำรัสผ่านการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ และทรงแสดงการไว้อาลัยต่อการจากไปของพระสุนิสาและให้คำมั่นอีกครั้งว่า สถาบันกษัตริย์จะปรับตัวให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมมากยิ่งขึ้น


ตลอดพระชนมชีพของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่มีความสำคัญซึ่งเชื่อมโยงกับเหตุการณ์สำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ของสหราชอาณาจักรและของโลกหลายครั้ง


หลังสิ้นสุดสงครามอ่าวเปอร์เซียในปี 1991 ทรงเป็นกษัตริย์อังกฤษพระองค์แรกที่ได้มีพระราชดำรัสต่อสภาคองเกรสของสหรัฐฯ   ในครั้งนั้นประธานาธิบดีจอร์จ เอช. บุช ได้กราบบังคมทูลว่า เท่าที่ชาวอเมริกันจำได้ สมเด็จพระราชินีนาถทรงเป็น "มิตรแท้แห่งเสรีภาพ" ผู้หนึ่งมาเป็นเวลานาน


ในเดือนพฤษภาคม ปี 2011 สมเด็จพระราชินีนาถทรงเป็นกษัตริย์อังกฤษพระองค์แรกที่เสด็จเยือนสาธารณรัฐไอร์แลนด์ อย่างเป็นทางการ มีพระราชดำรัสให้ชาวไอริชมีความอดทนอดกลั้นและประนีประนอมต่อความขัดแย้งกับอังกฤษที่ผ่านมาในหน้าประวัติศาสตร์


ในปีต่อมา พระองค์ยังได้เสด็จเยือนไอร์แลนด์เหนือ ในโอกาสนี้ได้ทรงจับมือกับนายมาร์ติน แม็คกินเนส อดีตผู้นำขบวนการไออาร์เอซึ่งเคยเรียกร้องอิสรภาพจากอังกฤษอีกด้วย นับว่าเป็นเหตุการณ์ที่ได้รับความสนใจอย่างมาก เนื่องจากพระญาติสนิทคือลอร์ด หลุยส์ เมาท์แบตเทน ถูกสังหารด้วยระเบิดของขบวนการไออาร์เอไปเมื่อปี 1979


พระองค์ยังทรงแสดงความห่วงกังวล ในครั้งที่สกอตแลนด์จัดการลงประชามติเพื่อเตรียมแยกตัวเป็นเอกราชในปี 2014 โดยมีพระราชดำรัสกับประชาชนผู้มารอเฝ้าที่ปราสาทบัลมอรัลว่า "ข้าพเจ้านับว่ากษัตริย์หรือราชินีของอังกฤษและสกอตแลนด์ทุกพระองค์ รวมทั้งบรรดาเจ้าชายแห่งเวลส์นั้นเป็นบรรพบุรุษของข้าพเจ้า ดังนั้นจึงเข้าใจได้ดีถึงความปรารถนาที่จะแยกตัวเป็นอิสระเช่นนี้ แต่ข้าพเจ้าก็ไม่สามารถลืมได้ว่า ตนเองได้ผ่านพิธีราชาภิเษกและสวมมงกุฎเป็นกษัตริย์ของสหราชอาณาจักรแห่งบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือมาเช่นกัน"  และผลการลงประชามติในครั้งนั้น คือ ชาวสกอตยังต้องการอยู่ร่วมในสหราชอาณาจักรต่อไป



นักวิเคราะห์ระบุว่า  แม้สถาบันกษัตริย์อังกฤษในช่วงปลายรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถจะไม่ได้แข็งแกร่งมั่นคงเหมือนดังช่วงต้นรัชสมัย แต่ก็ทรงตั้งพระทัยจะให้สถาบันกษัตริย์ยังคงเป็นที่เคารพรักของชาวอังกฤษต่อไปตราบนานเท่านาน ดังปรากฎในพระราชดำรัสเนื่องในพระราชพิธีรัชดาภิเษกว่า


"เมื่อข้าพเจ้าอายุได้ 21 ปี ได้ให้คำมั่นกับตนเองว่าจะอุทิศชีวิตเพื่อรับใช้ประชาชน และได้ขอประทานพรจากพระเจ้าเพื่อให้ความหวังนั้นสำเร็จด้วยดี แม้การตั้งปณิธานนี้จะมีขึ้นในสมัยที่ข้าพเจ้ายังมีความคิดอ่านที่สับสนวุ่นวาย และยังอ่อนด้อยต่อการใช้วิจารณญาณนัก แต่ข้าพเจ้าไม่เคยเสียใจที่ได้ตั้งใจไว้เช่นนี้ และจะไม่ขอถอนคำพูดแม้แต่คำเดียว"



ชมคลิป



อัปเดตข่าวไฮไลต์และบทวิเคราะห์ที่น่าสนใจ มาเป็นเพื่อนใน Line กับ TNN World คลิก https://lin.ee/LdHJXZt

ติดตาม TNN World ผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้ที่ 

Facebook : https://www.facebook.com/TNNWorld

Website : https://bit.ly/TNNWorldWebsite

Youtube : https://bit.ly/TNNWorldTodayYouTube

TikTok : https://bit.ly/TNNWorldTikTok

ข่าวที่เกี่ยวข้อง