บุหรี่ไฟฟ้า! มีผลต่อสุขภาพจิต อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย

นายแพทย์สุทัศน์ โชตนะพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกระแสข่าวในโซเชียลออนไลน์ เกี่ยวกับพฤติกรรมความรุนแรงขณะขับขี่รถ โดยผู้ก่อเหตุไม่มีโรคประจำตัวที่จะทำให้มีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง แต่มีการสูบบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งขณะนี้มีข้อมูลชี้ชัดว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีผลต่อสุขภาพจิต
โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนและวัยรุ่น เนื่องจากการได้รับสารนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าจะส่งผลต่อสมองส่วนที่ควบคุมการให้ความสนใจ การเรียนรู้ อารมณ์ และพฤติกรรม ทำให้เกิดภาวะอารมณ์แปรปรวน การควบคุมอารมณ์บกพร่อง หงุดหงิดง่าย มีพฤติกรรมก้าวร้าว นอกจากนี้ยังเสี่ยงต่อการเกิดภาวะวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้าอีกด้วย
ด้านนายแพทย์ชยนันท์ สิทธิบุศย์ ผู้อำนวยการกองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ และรักษาการนายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กล่าวเสริมว่า ประชาชนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า ควรเลิกสูบเพื่อลดความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตและพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เนื่องจากการเสพติดนิโคตินเกิดผลเสียหลายด้าน ทั้งรายจ่ายที่ไม่จำเป็น เจ็บป่วยเนื่องจากภาวะเสพติด และอาจทำให้เสียชีวิตได้
โดยสามารถติดต่อขอคำปรึกษาได้ที่สถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขใกล้บ้าน หรือโทรสายด่วน 1600 เพื่อรับคำปรึกษาเลิกบุหรี่ ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็นการ ขายบุหรี่ไฟฟ้าในช่องทางต่างๆ สามารถแจ้งเบาะแสเพื่อดำเนินคดี ผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
บุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายหรือไม่?
สารเคมีชนิดต่าง ๆ ที่พบในน้ำยาสามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ เช่น
นิโคติน
เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะไปกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง เพิ่มความดันโลหิต เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจและการหายใจ เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปอด โรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ มะเร็งช่องปาก หลอดอาหาร และตับอ่อน นอกจากนี้นิโคตินยังกระตุ้นให้มีการหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลเพิ่มขึ้น ซึ่งสารนี้ทำให้น้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้น เป็นสาเหตุของการเป็นโรคเบาหวาน นิโคตินกระตุ้นให้จำนวนเซลล์ผนังหลอดเลือดเพิ่มขึ้น ทำให้เส้นเลือดตีบ เพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจ และหลอดเลือดสมอง สำหรับหญิงตั้งครรภ์นิโคตินส่งผลต่อการพัฒนาของสมองทารกในครรภ์ การได้รับสารนิโคตินในระดับที่สูง (60 mg. ในผู้ใหญ่ และ 6 mg ในเด็กเล็ก) เสี่ยงต่อการเสียชีวิต
โพรไพลีนไกลคอล และสาร Glycerol/Glycerin
เมื่อสัมผัสหรือสูดดมเข้าไปอาจทำให้เกิดการระคายเคืองที่ผิวหนัง ดวงตา และปอดได้ โดยเฉพาะในผู้ที่เป็นโรคปอดเรื้อรัง โรคหอบหืด และโรคถุงลมโป่งพอง
นอกจากนี้ยังพบสารประกอบอีกมากมายในไอของบุหรี่ไฟฟ้าที่มีข้อมูลว่าเป็นอันตรายต่อร่างกาย เช่น โลหะหนัก สารหนู สารกลุ่ม Formaldehyde และกลุ่ม Benzene เป็นต้น จากการวิจัยยังพบว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคต่าง ๆ เพิ่มขึ้น เช่น โรคหัวใจ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของ DNA ในเซลล์ปอด หัวใจ และกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็ง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- บุหรี่ไฟฟ้าระบาด! นายกฯ สั่งการด่วนเร่งกวาดล้าง แก้กฎหมายเอาผิดให้หนักขึ้น
- รัฐบาลย้ำ! บุหรี่ไฟฟ้า จับสถานเดียว เตือนภัยล่าสุดมาในรูปแบบ “โดเรมอน”
- บุหรี่ไฟฟ้าผิดกฎหมาย! นายกฯ สั่งปราบ ลงโทษเด็ดขาดทั้งผู้ผลิต-นำเข้า-ผู้ขาย