รีเซต

ธ.กลางทั่วโลกเทขายทองคำสำรองติดลบรอบ 10 ปี

ธ.กลางทั่วโลกเทขายทองคำสำรองติดลบรอบ 10 ปี
TNN ช่อง16
13 พฤศจิกายน 2563 ( 09:53 )
456

ย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 1971 "ทองคำ" นับเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงถึง 10 เปอร์เซนต์ต่อปี โดยเฉพาะ ในภาวะที่โลกกำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนอย่างสูง ดังนั้น "ทองคำ" จึงนับเป็นสินทรัพย์ที่หลายคนให้ความสำคัญ ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe haven) เช่นเดียวกับธนาคารกลางทั่วโลกที่จะใช้ทองคำเป็นทุนสำรองในสัดส่วนมหาศาลเช่นกัน

ตามข้อมูลของหน่วยงานสถิติการเงินระหว่างประเทศ (International Financial Statistics) หรือ IFS ระบุว่า จนถึงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา (ปี 2020) ธนาคารกลางและองค์การระหว่างประเทศทั่วโลกถือครอง "ทองคำ" รวมกันมากกว่า 3 หมื่น 5 พันตัน โดยมี "สหรัฐอเมริกา" เป็นผู้ที่ถือครองทองคำมากที่สุด มากกว่า 8,000 ตัน คิดเป็น 79 เปอร์เซนต์ของทุนสำรองทั้งหมด  รองลงมาคือ "เยอรมนี" และ "IMF" อยู่ที่ประมาณ 3,300 ตัน และ 2,800 ตันตามลำดับ

โดยจะเห็นได้ว่า การเข้ามามีบทบาทอย่างมากของธนาคารกลางแต่ละประเทศนั้น ได้ทำให้นโยบายของธนาคารกลางที่มีต่อทองคำเป็นปัจจัยสำคัญอย่างมากต่อทิศทางของราคาทอง โดยมีตัวอย่างสำคัญ คือ เมื่อช่วงปี 1980-1960 ที่ธนาคารกลางอังกฤษได้ตัดสินใจเทขายทองคำที่ถือครองกว่า "ครึ่งหนึ่ง" จากระดับประมาณ 650 ตันเหลือเพียง 310 ตัน จนถึงปัจจุบัน เพื่อนำเงินไปลงทุนในสกุลเงินต่างประเทศแทน จนทำให้ราคาทองคำ ร่วงลงจากระดับประมาณ 400 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ เหลือประมาณ 250 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์เท่านั้น

เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว แต่ละประเทศจึงเจรจาทำข้อตกลงที่เรียกว่า "Washington Agreement on Gold" หรือ "ความตกลงวอชิงตันว่าด้วยทองคำ" ที่ลงนามเมื่อวันที่ 26 กันยายนปี 1999 เพื่อจำกัดการขายทองคำแต่ละประเทศในแต่ละปีว่า จะต้องไม่เกิน 400 ตันต่อปี รวมไปถึงเพดานการซื้อทองคำเพิ่มเช่นกัน ว่าต้องไม่เกิน 2,000 ตันต่อปีด้วย

โดยหลังจากข้อตกลงดังกล่าวบรรลุ ก็ทำให้ราคาทองพุ่งกลับไปอยู่ที่ประมาณ 330 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ จากระดับ 260 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ภายใน 2 สัปดาห์

อย่างไรก็ดี  "Washington Agreement" เพิ่งสิ้นสุดเมื่อเดือนกันยายน ปีที่แล้ว (2019) หรือไม่นานก่อนเกิดเหตุการณ์ COVID-19 เท่านั้น

โดยล่าสุด สภาทองคำระหว่างประเทศ (WGC) ได้เปิดเผยรายงานสรุปสถานการณ์ทองคำในไตรมาสที่ 3 หรือ "Gold Demand Trends : Q3 2020" โดยประเด็นที่หลายคนจับตามองในรายงานฉบับนี้ คือ ยอดซื้อขายทองคำสุทธิ (ซึ่งเป็นยอดขายทองคำสำรอง "ลบด้วย" ยอดซื้อทองคำสำรอง ของธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลก) ในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ อยู่ที่ติดลบ 12 ตัน (หรือหมายความว่า ธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกได้เทขายทองคำ มากกว่าซื้อถึง 12 ตัน ในไตรมาสที่ 3) นับเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 10 ปี หรือตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2010 ที่ธนาคารกลางทั่วโลกได้พลิกสถานะจาก "ผู้ซื้อ" ไปเป็น "ผู้ขาย" แทน

สำหรับธนาคารกลางที่ขายทองคำออกไปมากที่สุด ในไตรมาสที่ 3 คือ แบงก์ชาติตุรกีและอุซเบกิสถาน

โดยธนาคารกลางอุซเบกิสถานขายทองคำไปเกือบ 35 ตัน ซึ่งทางสภาทองคำระหว่างประเทศ (WGC) มองว่า การเทขายทองคำของธนาคารกลางครั้งนี้ เป็นการพยายามใช้ประโยชน์จากทองคำสำรอง และการเพิ่มขึ้นของราคาทองคำ ท่ามกลางการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยจะเห็นได้ว่า ตามข้อมูลทางสถิติของทางการ อุซเบกิสถานได้ส่งออกทองคำไปแล้ว เป็นมูลค่ากว่า 5,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ 

ขณะที่ ตุรกีขายออกไปมากกว่า 22 ตัน เนื่องมาจาก ธนาคารกลางได้ใช้เครื่องมือทางนโนยาย ที่ส่งผลกระทบต่อระดับทุนสำรองทองคำ อย่างไรก็ดี ธนาคารกลางตุรกียังถือเป็นผู้ซื้อทองคำรายใหญ่ที่สุดของโลกในปีนี้ เนื่องจากตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ธนาคารกลางตุรกีซื้อทองคำไปแล้ว 148 ตัน ทำให้จำนวนทองคำสำรองทั้งหมดอยู่ที่ 561 ตัน คิดเป็น 47 เปอร์เซนต์ของทุนสำรองทั้งหมด

แต่ เมื่อดูยอดซื้อขายสุทธิ ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา (Year to date) ธนาคารกลางทั่วโลกยังคงซื้อทองคำมากกว่าขายออกอยู่ดี แม้ว่า ในไตรมาสที่ 3 จะมีธนาคารกลางซื้อทองคำเข้าทุนสำรองเพิ่มเพียง 6 ประเทศเท่านั้น ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ 7.4 ตัน // อินเดีย 6.8 ตัน // กาตาร์ 6.2 ตัน // สาธารณรัฐคีร์กีซ 5 ตัน // คาซัคสถาน 4.9 ตัน // และกัมพูชา 1 ตัน ทำให้ ยอดซื้อรวมทั้งหมดอยู่ที่ 33 ตันเท่านั้น 

ขณะที่  "เบอร์นาร์ด ดาห์ดาห์" นักวิเคราะห์จาก Natixis สถาบันการเงินแห่งหนึ่งในฝรั่งเศส ระบุว่า "ปรากฎการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น เนื่องจาก ธนาคารกลางทุกแห่งทั่วโลกกำลังเผชิญกับแรงกดดันด้านสภาพคล่อง ตอนนี้จึงไม่ใช่เวลากักตุนทองคำ เพราะต้องการเงินสด"

สำหรับคำถามที่ว่า ในอนาคต ธนาคารกลางทั่วโลกมีโอกาสจะขายทองคำสำรองเพิ่มอีกหรือไม่?

Krishan Gopaul ผู้จัดการฝ่ายวิจัยของ WGC มองว่า ยอดซื้อ-ขายทองคำสำรองทั่วโลก ตลอดทั้งปีนี้ น่าจะยังเป็นบวก มากกว่าลบ แต่จำนวนดังกล่าวอาจน้อยกว่า 2 ปีก่อนหน้า เนื่องจาก ความไม่แน่นอนจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังคงกระตุ้นให้นักลงทุนจำนวนมาก รวมถึงธนาคารกลาง ซึ่งได้รับผลกระทบจากนโยบายดอกเบี้ยและพันธบัตรรัฐบาลที่ต่ำมากหรือติดลบ แสวงหาสินทรัพย์ปกป้องความเสี่ยงในช่วงวิกฤต ซึ่งสินทรัพย์ที่ว่านี้ รวมไปถึงทองคำด้วย

และเมื่อดูที่ยอดซื้อทองคำสุทธิตลอดหลายปีที่ผ่านมาของธนาคารกลางทั่วโลก จะพบว่าในปี 2018 ธนาคารกลางทั่วโลกได้ซื้อทองคำมากที่สุดอยู่ที่  651.5 ตัน ขณะที่ ในปี 2019 ยอดซื้อทองคำลดลงมาเล็กน้อยอยู่ที่ 650 ตัน โดยธนาคารกลางที่เป็นผู้ซื้อรายใหญ่ในปีนั้นคือ รัสเซีย ตุรกี และคาซัคสถาน 

ซึ่งนักวิเคราะห์หลายคนมองว่า ปรากฎการณ์นี้เกิดจากความพยายามของธนาคารกลางทั่วโลกที่จะย้ายทุนสำรองออกจากเงินดอลลาร์ ที่หลายคนมองว่า เริ่มสูญเสียตำแหน่ง "สกุลเงินหลักของโลก" ไปแล้ว

ขณะที่  คุณวรุต รุ่งขํา ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จํากัด มองว่า ในระยะสั้นหลายประเทศน่าจะยังออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและใช้มาตรการผ่อนคลายนโยบายการเงินอยู่ ทำให้ธนาคารกลางหลายประเทศน่าจะหาโอกาสช้อนซื้อทองคำสะสมมากกว่า เพื่อสร้างเสถียรภาพ และเป็นการป้องกันไม่ให้ค่าเงินของประเทศอ่อนค่าลง จากมาตรการผ่อนคลายมาตรการเงิน

พร้อมทั้งมองว่า ในทุกๆ ปี ราคาทองคำอ่อนตัวโลกในไตรมาสที่ 4 และ 1 ของปี ก่อนจะไปทำนิวไฮในไตรมาส 3 จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ธนาคารกลางจะเอาทองคำออกมาขายหรือทำกำไร และเมื่อราคาทองคำอ่อนตัวลงมาในไตรมาส 4 หรือ 1 เหล่าบรรดาธนาคารกลางต่างๆ ก็น่าจะมาช้อนซื้อทองคำเป็นทุนสำรองเพิ่ม เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงที่ค่าเงินของตัวเองจะไร้เสถียรภาพ

สำหรับแนวโน้มราคาทองในอนาคต วายแอลจี ยังประเมินว่า ระยะสั้นมีความผันผวนเพิ่มขึ้น หลังราคาทองคำตลาดโลก (9 พ.ย.) ดิ่งลงแรงกว่า 100 ดอลลาร์ต่อออนซ์ จากระดับสูงสุดในระหว่างวัน 1,965.55 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สู่ระดับต่ำสุดบริเวณ 1,849.98 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่มองภาพรวมระยะยาวปัจจัยบวกยังไม่เปลี่ยนแปลงแม้มีข่าววัคซีนโควิด -19 เพราะกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นต้องใช้เวลา อย่างน้อย 1-2 ปี ส่งผลให้ธนาคารกลางทั่วโลกคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำต่อเนื่อง หนุนให้ราคาทองคำยังไปต่อได้ในระยะยาว ส่วนประเด็นธนาคารกลางหลายประเทศเริ่มขายทองคำ YLG มองว่า ส่วนใหญ่ประเทศที่เทขายออกมาจำนวนมากเป็นประเทศที่มีปัญหาด้านเศรษฐกิจ เช่น ตุรกี ที่มีปัญหาค่าเงินอ่อนค่า ส่วนธนาคารกลางของประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น สหรัฐ และจีน ไม่ได้มีการขายอย่างมีนัยสำคัญ 

 

รวมสิทธิส่งเสริมคุณภาพชีวิต เกาะติดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทันเรื่องราวกระแสสังคม สัมผัสประสบการณ์ข่าวได้ที่ แอปพลิเคชัน ทรูไอดี (ดาวน์โหลดเลยที่นี่!!)

 

เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง