รีเซต

“ปืนฉีดน้ำ” ไอเทมสงกรานต์ ตำนานจากวิศวกร NASA ! | Tech In Depth

“ปืนฉีดน้ำ” ไอเทมสงกรานต์ ตำนานจากวิศวกร NASA ! | Tech In Depth
TNN ช่อง16
12 เมษายน 2567 ( 01:35 )
39

รู้หรือไม่ ของเล่นประจำวันสงกรานต์อย่างปืนฉีดน้ำ เป็นหนึ่งในไอเดียจากวิศวกร NASA ตอนกำลังเล่นสายยางในห้องน้ำ และทำให้เขากลายเป็นเศรษฐีหมื่นล้านในปัจจุบัน


จากคนผิวดำธรรมดาสู่วิศวกรประจำ JPL ของ NASA

ลอนนี่ จอห์นสัน (Lonnie Johnson) เป็นอดีตวิศวกรใน NASA และยังเป็นเจ้าของสิทธิบัตรนับร้อยรายการ และเจ้าของสิทธิบัตรปืนฉีดน้ำซูเปอร์ โซกเกอร์ (Super Soaker) แบรนด์ยอดนิยมระดับโลก ที่ทำให้เจ้าตัวมีทรัพย์สินไม่ต่ำกว่า 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบ 11,000 ล้านบาทในปัจจุบัน โดย Investor's Business Daily สำนักข่าวชื่อดังของสหรัฐฯ รายงานว่าปืนฉีดน้ำตัวนี้ มียอดขายกว่า 200 ล้านชิ้นทั่วโลก คิดเป็นเงินกว่า 36,000 ล้านบาท นับตั้งแต่วันแรกที่เริ่มขายจนถึงปัจจุบัน


 Lonnie Johnson มักพูดเสมอเวลามีคนถามว่า อะไรคือสิ่งที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จ นั่นก็คือ “ความพยายาม” โดยเมื่อย้อนไปดูตั้งแต่วัยเด็ก เจ้าตัวจบโรงเรียนมัธยมปลายธรรมดาทั่วไปในรัฐอะลาบามา (Alabama) และเข้ามหาวิทยาลัยทัสคีกี (University of Tuskegee) ที่เป็นมหาวิทยาลัยคนผิวดำในสาขาวิศวกรรมเครื่องกล ก่อนจบปริญญาโทในสาขาวิศวกรรมนิวเคลียร์ที่มหาวิทยาลัยเดียวกัน


หลังจากเรียนจบได้ 4 ปี Lonnie Johnson ในวัย 30 ปี ก็ได้เป็นวิศวกรที่ Jet Propulsion Laboratory หรือ JPL ห้องวิจัยด้านเครื่องยนต์ที่หลายคนในสายวิศวกรรมต่างใฝ่ฝันอยากทำงานที่นั่น เพราะ JPL คือหนึ่งในหัวใจสำคัญของการพัฒนาโครงการต่าง ๆ ของ NASA 


จุดพลิกชีวิตจากวิศวกร NASA สู่ว่าที่อภิมหาเศรษฐี

ความพยายามของเขาจนเข้าไปอยู่ NASA ได้ให้อะไรหลายอย่างมาก ๆ สำหรับ Lonnie เขาได้รับผิดชอบโครงการต่าง ๆ ในนั้น รวมถึงโครงการใหญ่ ๆ อย่างการดูแลชิ้นส่วนสำหรับเครื่องบินทิ้งระเบิดแบบล่องหน หรือ stealth bomber 


แต่สิ่งที่พลิกชีวิตของ Lonnie มีจุดเริ่มต้นมาจากการร่วมผลิตชิ้นส่วนในโครงการกาลิเอโอ (Galileo) โครงการสร้างหุ่นยนต์ที่ส่งไปโคจรสำรวจรอบดาวพฤหัสบดี เพราะในวันหนึ่งที่เขากลับมาเพราะคิดไม่ออกว่าจะจัดการกับระบบปั๊มความร้อน (Heat pump) ภายในตัวยานอย่างไร จึงได้ลองต่อสายยางกับก๊อกในห้องน้ำแล้วลองฉีดเผื่อจะได้ไอเดียอะไรจากธรรมชาติรอบตัวบ้าง


ซึ่งเขาก็ได้ไอเดียจริง ๆ  แต่ไม่ใช่ไอเดียของไปดาวพฤหัสบดี แต่เป็นของเล่นแทน เพราะวินาทีที่เห็นน้ำพุ่งออกไป ในใจก็คิดว่าถ้าสามารถทำให้น้ำพุ่งแรงได้กว่านี้น่าจะสนุกแน่ ๆ จึงรีบร่างโครงการเพื่อเสนอกับบริษัทผู้ผลิตของเล่นและนักลงทุน อย่างไรก็ตาม แผนการของเขาที่วาดฝันไว้ กลับต้องใช้เวลาถึง 7 ปี ในการทำให้เกิดขึ้นจริงขึ้นมาได้ในปี 1990 และช้ากว่าวันที่ปล่อยยานในโครงการที่เขารับผิดชอบไปถึง 1 ปีด้วยซ้ำ 


แต่สุดท้าย ก็มีคนที่เห็นว่าคุ้มเสี่ยง ซึ่งก็คือบริษัทลารามี (Larami) บริษัทที่ผลิตของเล่นราคาถูกในสหรัฐอเมริกาในยุคนั้น พร้อมวางเดิมพันกับปืนฉีดน้ำของ Lonnie 1,000 ชิ้นแรก ด้วยเงินลงทุน 200,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงิน 17 ล้านบาทในปัจจุบัน


ปืนฉีดน้ำของ Lonnie ที่ตอนนี้เรียกว่าซูเปอร์ โซกเกอร์ (Super Soaker) ได้วางขายในโซนของเล่นในห้างเป็นครั้งแรกในปีเดียวกันนั้น (1990) ซึ่งมีราคาตั้งแต่ 10  - 60 ดอลลาร์สหรัฐ ตามความซับซ้อนของกลไกภายในปืนฉีดน้ำ ด้วยราคาที่เข้าถึงได้สำหรับชาวอเมริกัน พร้อมกับการโฆษณาที่หนักหน่วงและต่อเนื่องทำให้ Super Soaker มียอดขายกว่า 27 ล้านชิ้น ใน 3 ปีแรกนับตั้งแต่วางขาย 


แต่สิ่งที่มัดใจลูกค้าเอาไว้ ไม่ได้เป็นแค่ของเล่นที่แปลกใหม่ เมื่อเรากางสิทธิบัตรออกมาดู ถึงได้รู้ว่า Super Soaker คือสุดยอดนวัตกรรมที่สมกับเป็นไอเดียจากวิศวกร NASA ที่หลายคนคาดไม่ถึงในยุคนั้น


สิทธิบัตรและการต่อสู้เพื่อสิทธิของตน

จากภาพสิทธิบัตรที่เป็นจุดเริ่มต้นของ Super Soaker เราจะกลไกของปั๊มที่อัดอากาศแรงดันสูงลงไป และใช้ท่อยิงที่มีขนาดเล็กเพื่อเพิ่มความเร็วจากปลายท่อ และยังมีเซนเซอร์ที่สร้างเสียงคล้ายปืนอวกาศตามหนังไซไฟเวลายิงออกไปด้วย 


กลไกภายในที่ซับซ้อน แต่ใช้งานง่ายและสร้างประสบการณ์ที่แปลกใหม่สนุกสนาน Super Soaker จึงกลายเป็นของเล่นในใจใครหลายคนทั่วโลกในเวลาไม่นาน และเพื่อให้ Super Soaker ครองตลาดปืนฉีดน้ำต่อไป ตัวผลิตภัณฑ์ก็ต้องมีการวิจัยและพัฒนา ซึ่งแฮสโบร (Hasbro) ยักษ์ใหญ่ในวงการของเล่นของสหรัฐอเมริกา ก็เล็งเห็นศักยภาพของปืนฉีดน้ำแบรนด์นี้ และก้าวเข้ามาเพื่อรวบกิจการ Larami ไว้ในมือในปี 1995 


การเข้ามานี้ทำให้ Super Soaker เหมือนเสือติดปีก ที่เพิ่มยอดขายอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง Lonnie ที่ถึงแม้จะไม่ได้บริหารแล้ว แต่ก็ยังได้ส่วนแบ่งจากค่าสิทธิบัตรต่อไป อย่างไรก็ตาม ในปี 2013 Lonnie พบว่า Hasbro เหลี่ยมใส่ ไม่ได้จ่ายค่าใช้สิทธิบัตร (underpaid royalties) ตามที่คุยกันไว้ ซึ่งสุดท้าย Hasbro ก็ต้องจ่ายให้ตามศาลสั่งอยู่ดี ด้วยเงินกว่า 73 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือถ้าคิดตามค่าเงินปัจจุบันก็เกือบ ๆ 3,600 ล้านบาท


เทคโนโลยีปืนฉีดน้ำ Super Soaker

แม้ว่าจะดูเป็นเงินก้อนใหญ่ แต่ราคาที่ Hasbro ต้องจ่าย อาจเทียบไม่ได้กับเทคโนโลยีที่ Super soaker มีด้วยซ้ำ


อย่างแรกก็คือปั๊มลูบสูบ (Piston pumper) ที่เป็นการชักลูกสูบอัดอากาศ อันนี้อาจจะเป็นเรื่องพื้น ๆ ไปซักหน่อย แต่แน่นอนว่าก็มีการใช้งานทั่วโลก เพราะเป็นเทคโนโลยีที่มีต้นทุนการพัฒนาราคาถูกและใช้งานง่าย


แต่สิ่งที่เป็นเทคโนโลยีเฉพาะของ Super Soaker นั้นเริ่มต้นจากระบบอัดอากาศด้วยกระบอกความดัน ซึ่งเป็นการอัดความดันรอไว้ล่วงหน้าด้วยปั๊มไฟฟ้าในตัวปืนฉีดน้ำ และทุกครั้งที่กดเหนี่ยวไก อากาศก็จะพุ่งดันน้ำออกมา ต่อมาก็ยังมีการสร้างระบบอัดอากาศแบบแยกกระบอก ที่คล้ายกับระบบก่อนหน้า แต่ว่ารอบนี้ตัวอากาศที่โดนบีบอัดจะโดนไปอยุ่กระบอกแยกจากปั๊มแทน เพื่อเพิ่มแรงดันให้กับน้ำ


และยังมีระบบสปริงที่ super soaker เริ่มเอาเข้ามาใช้ตั้งแต่ปี 2008 เพื่อสร้างแรงดันให้น้ำแบบรวดเร็วในระยะเวลาสั้น ๆ ซึ่งทำให้น้ำพุ่งแรงไปไกลได้มากขึ้น แต่ทีเด็ดที่สุดคือระบบที่เรียกว่า CPS (Constant Pressure System) เป็นระบบที่ปั๊มน้ำใส่ถุงยางที่เป็นกระเปาะที่โดนขึงให้ตึงไว้ พอกดยิงก็จะสร้างแรงดีดดันน้ำอย่างแรงและต่อเนื่อง ซึ่งนับเป็นระบบสร้างแรงดันยิงปืนที่ทรงพลังที่สุดของ Super Soaker ในปัจจุบัน


เส้นทางชีวิตจากวิศวกร NASA สู่แนวหน้าพลังงานทางเลือก

ความพยายามของ Lonnie ที่เริ่มมาจากสายยางในห้องน้ำ ได้ก่อร่างสร้างตัวเป็นนวัตกรรมของเล่นที่มียอดขายทะลุ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ Lonnie หยุดคิดและพัฒนาเลยแม้แต่น้อย


ย้อนกลับเมื่อปี 1991 หลังจากที่เขาเริ่มได้เงินจาก Super Soaker เป็นล่ำเป็นสันแล้ว สิ่งที่เขาทำ ไม่ได้เก็บเป็นทรัพย์สิน แต่เขานำมาเป็นทุนตั้งบริษัทใหม่ เพื่อใช้วิจัยนวัตกรรมพลังงานทางเลือกที่มีชื่อว่า Johnson Research & Development (ปัจจุบันคือ Johnson R&D) เพื่อพัฒนาแบตเตอรี่แบบโซลิด-สเตท (Solid-state) และหาหนทางที่จะเปลี่ยนความร้อนเป็นพลังงานไฟฟ้า เพื่อโลกที่ยั่งยืน ซึ่งในเวลานั้นนับว่าเป็นเรื่องที่ใหม่มาก ๆ และในปีที่ผ่านมา บริษัทในเครือของเขาเองก็ได้เริ่มระดมทุนเพื่อผลิตแบต Solid-state แล้วด้วย


เพราะฉะนั้นจึงไม่แปลกใจที่เขาจะได้รับรางวัลจาก Popular Mechanics นิตยสารวิทยาศาสตร์ชื่อดัง ในฐานะผู้ผลักดันการสร้างพลังงานที่ยั่งยืน 


Lonnie ยังได้รางวัลนักประดิษฐ์แห่งชาติ National Inventors Hall of Fame รวมถึงของเล่นของเขาอย่าง Super Soaker ก็เป็นของเล่นอันทรงเกียรติแห่งชาติ National Toy Hall of Fame ด้วยเช่นกัน ซึ่งทุกวันนี้ ในปี 2024 เราก็ยังสามารถเห็น super soaker ได้ตามห้างสรรพสินค้าชื่อดังในปัจจุบัน



ข้อมูลจาก Inventors, Wikipedia, Museum of PlayGoogle Patent

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง