รีเซต

นับถอยหลัง "ภาษีทรัมป์" กระแทกไทย 9 เมษา 68

นับถอยหลัง "ภาษีทรัมป์" กระแทกไทย 9 เมษา 68
TNN ช่อง16
8 เมษายน 2568 ( 10:06 )
10

เหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่ชั่วโมง ที่ทางการสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากประเทศไทย สูงถึง 36  % 


หลังจากที่ได้ประกาศ "วันปลดปล่อย" เพื่อทำให้อเมริกากลับมาร่ำรวยอีกครั้ง "Make America Wealthy Again" 

ด้วยการเดินหน้าขึ้นภาษีศุลกากรไปยังประเทศต่างๆทั่วโลก ทั้งภาษีที่ผลกับทุกประเทศโดยทั่วไป อัตรา 10  % 

และภาษีศุลกากรแบบต่างตอบแทน  (Reciprocal Tariffs) ที่แต่ละชาติถูกเรียกเก็บมากน้อยแตกต่างกันไป เริ่มตั้งแต่ 10 - 49  % โดยคิดจากสัดส่วนการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ


ขณะที่ประเทศไทย ถูกจัดเก็บภาษีสูงเป็นลำดับที่ 5 ของอาเซียน 

แต่อาเซียนก็เป็นกลุ่มที่ถูกเก็บภาษีสูงที่สุดในบรรดาเขตเศรษฐกิจทั่วโลก 

ส่วนประเทศจีนเป็นประเทศที่ถูกขึ้นภาษีจากสหรัฐฯ มากที่สุด คือ รวมแล้วอยู่ในอัตรา 54 %


วันนี้เรามาย้อนดูไทม์ไลน์ เส้นทางที่ประธานาธิบดีทรัมป์ ประกาศขึ้นภาษีก่อนถึงวันที่กระแทกประเทศไทย 

 




จุดเริ่มต้น " America First Trade Policy " 

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ สาบานตนรับตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2568 

ได้กล่าวสุนทรพจน์และประกาศนโยบายที่ครอบคลุม 10 เรื่องสำคัญ ดังนี้


1. ผลักดันสหรัฐอเมริกา สู่ยุคทอง ฟื้นฟูสหรัฐอเมริกาให้กลับมารุ่งเรือง เป็นที่หนึ่งในทุกด้าน โดยมุ่งเน้นการสร้างความมั่นคงและศักดิ์ศรีบนเวทีโลก


2. ฟื้นฟูความเชื่อมั่นและเสถียรภาพของรัฐบาล ปรับปรุงระบบการปกครองให้มีความยุติธรรมและซื่อสัตย์ ยุติการใช้อำนาจของรัฐบาลในการเป็นเครื่องมือ

ทำลายฝ่ายตรงข้าม พร้อมทั้งปรับปรุงและแก้ไขปัญหาในด้านบริการสาธารณะ เช่น การจัดการภัยพิบัติและระบบสุขภาพ


3. ส่งเสริมเศรษฐกิจพลังงาน สนับสนุนการผลิตพลังงานในประเทศ และยกเลิกนโยบาย Green New Deal และข้อบังคับยานยนต์ไฟฟ้า พร้อมทั้งประกาศ

ภาวะฉุกเฉินด้านพลังงาน และลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน ทั้งนี้ นโยบาย Green New Deal เป็นมาตรการที่รับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลง

สภาพภูมิอากาศและการสร้างงานที่ยั่งยืน เช่น พลังงานสะอาด (ตั้งเป้าหมายที่จะเปลี่ยนสหรัฐอเมริกาให้ใช้พลังงานสะอาด 100% ภายในปี ค.ศ. 2035)

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (เช่น การปรับปรุงระบบขนส่งมวลชน การสร้างโครงข่ายไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ และการซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐานที่

ช่วยลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น น้ำท่วมและพายุ) การพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า (กำหนดให้รถยนต์ใหม่ในสหรัฐอเมริกา ต้องเป็นรถไฟฟ้า

 50 % ภายในปี ค.ศ. 2030 การขยายเครือข่ายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า และให้เงินสนับสนุนการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าแก่ผู้บริโภคและบริษัทต่าง ๆ)

และการสนับสนุนชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ


4. จัดการด้านความมั่นคงและชายแดน ยุติการลักลอบเข้าเมืองแบบผิดกฎหมายและส่งคืนผู้กระทำผิดชาวต่างชาติกลับประเทศต้นทางเพื่อลดอาชญากรรม

พร้อมทั้งเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยทางชายแดน โดยประกาศภาวะฉุกเฉินที่ชายแดนทางตอนใต้ และตั้งทหารประจำชายแดน


5. ปฏิรูปกองทัพและการศึกษา ฟื้นฟูกองทัพและสร้างกองทัพที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก พร้อมคืนสถานะทางทหารและจ่ายเงินชดเชยให้กับทหารที่ถูกปลด

จากการที่คัดค้านการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ขณะที่ด้านการศึกษาจะยุติการดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่พยายามสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมด้วย

การกำหนดเชื้อชาติและเพศในทุกด้านของชีวิตสาธารณะและเอกชน เราจะสร้างสังคมที่ไม่สนใจสีผิวและเป็นสังคมที่ยึดตามหลักความสามารถ 


6. สร้างความสามัคคีและสันติภาพ สร้างความเป็นหนึ่งเดียวของชาติ และมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำการสร้างสันติภาพโลก โดยมุ่งเน้นการยุติสถานการณ์ความขัดแย้ง

รวมทั้งช่วยเหลือผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของความขัดแย้ง 


7. ปฏิรูประบบการค้าและการเก็บรายได้ วางแผนจัดตั้งหน่วยงาน External Revenue Service เพื่อจัดเก็บรายได้ภาษีจากการนำเข้า เช่น ภาษีศุลกากร

พร้อมส่งเสริมนโยบายการค้าที่เพิ่มความมั่งคั่งให้ประชาชน


8. วิสัยทัศน์ระยะยาวและเป้าหมายแห่งอนาคต สหรัฐอเมริกาจะกลับมามองตนเองเป็นประเทศที่กำลังเติบโต ซึ่งต้องเพิ่มความมั่งคั่ง สร้างเมือง และขยายอาณาเขต

ผ่านการฟื้นฟูอุตสาหกรรมการผลิตภายในประเทศและอุตสาหกรรมอวกาศ โดยตั้งเป้าส่งนักบินอวกาศไปดาวอังคาร พร้อมเน้นย้ำการสร้างบทบาทความเป็นผู้นำ

ของสหรัฐอเมริกา ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ทรงพลังที่สุด และได้รับความเคารพมากที่สุดในโลก 


9. คำมั่นสัญญาต่อประชาชน แสดงความขอบคุณต่อผู้สนับสนุนจากทุกเชื้อชาติและทุกวัย สร้างความหวังให้คนรุ่นใหม่ พร้อมให้คำมั่นว่า ความฝันแบบอเมริกันจะกลับมา

และเจริญรุ่งเรืองเหมือนที่ไม่เคยเป็นมาก่อน


10. แสดงจุดยืนส่วนตัว กล่าวถึงความท้าทายในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา และการถูกลอบสังหาร พร้อมประกาศความมุ่งมั่นที่จะทำให้สหรัฐอเมริกายิ่งใหญ่กว่าที่เคย

และสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่


หลังจากนั้นประธานาธิบดีทรัมป์ ได้เดินหน้านโยบายการค้าเชิงรุก ด้วยการใช้ "ภาษีศุลกากร" เป็นเครื่องมือสำคัญที่ทรัมป์กล่าวว่าจะช่วยให้อเมริกากลับมาร่ำรวยอีกครั้งได้

โดยเริ่มจากประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งเม็กซิโก แคนาดา และพุ่งเป้าไปที่ "จีน" ซึ่งสหรัฐฯ ขาดดุลการค้ามหาศาล   







TIMELINE  ภาษีทรัมป์ "RECIPROCAL TARIFF"

1 กุมภาพันธ์ 2568   ขึ้นภาษีนำเข้า "จีน" 10  % 


4 มีนาคม 2568   ขึ้นภาษีนำเข้า "จีน" เป็น 20  % 


7 มีนาคม 2568   ยกเว้นภาษีกับ เม็กซิโก แคนาดา ภายใต้ USMCA*

หมายความว่า สินค้าทุกรายการจาก 2 ประเทศดังกล่าว  จะถูกเก็บภาษีที่อัตรา 25  %  แต่พลังงานและ โพแทช เก็บภาษีที่อัตรา 10  % 

*USMCA  คือ อัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากแคนาดาและเม็กซิโก จะยังคงเป็นไปตามคำสั่ง EO เรื่องปัญหาผู้อพยพเข้าเมืองผิดกฎหมาย/ยาเฟนทานิล 

ทั้งนี้สินค้าที่มีคุณสมบัติตามเงื่อนไขและเกณฑ์ข้อกำหนดที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีภายใต้ความตกลง USMCA จะไม่ถูกจัดเก็บภาษีนำเข้า ทั้

แต่ในกรณีที่คำสั่ง EO ดังกล่าวถูกยกเลิก สินค้าที่ไม่เข้าข่ายเงื่อนไขและเกณฑ์ข้อกำหนดตามความตกลง USMCA จะถูกจัดเก็บภาษีต่างตอบแทนในอัตรา 12 %


12 มีนาคม 2568  ขึ้นภาษี "เหล็กและอลูมิเนียม"  25 % 


2 เมษายน 2568  เก็บภาษีเพิ่ม 25  % กับประเทศที่นำเข้าน้ำมันจากเวเนซุเอลา 


3 เมษายน 2568 ขึ้นภาษีสินค้ารถยนต์ จากทุกประเทศ 25 %


*5-8 เมษายน 2568  RECIPROCAL TARIFF ภาษีศุลกากรแบบต่างตอบแทน 

เป็นการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าทุกรายการจากทุกประเทศในอัตรา 10  % 

-ยกเว้นเหล็กและอลูมิเนียมใช้อัตราที่ประกาศไปแล้วก่อนหน้า 

-ยกเว้นรายการสินค้า Annex II แนบท้าย EO 14257

ครอบคลุมทองแดง ยาและเวชภัณฑ์ เซมิคอนดักเตอร์ ผลิตภัณฑ์จากไม้ แร่ธาตุหายาก พลังงาน 

ทั้งนี้ ภาษี 10% จะเป็นการเก็บเพิ่มจากอัตราภาษีที่เรียกเก็บอยู่แล้ว (MFN apply rate) 

รวมทั้งอากร ค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่แต่ละประเทศถูกจัดเก็บอยู่เดิม


** 9 เมษายน 2568    RECIPROCAL TARIFF ภาษีศุลกากรแบบต่างตอบแทน  

สินค้าทุกรายการจาก "ประเทศไทย" ถูกเก็บภาษีเพิ่ม 36  % 

เป็นการขึ้นภาษีไม่เท่ากันแต่ละประเทศ หรือ Individualized Reciprocal Higher Tariff 

โดยจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าทุกรายการเป็นรายประเทศ สำหรับประเทศที่สหรัฐฯ มีการขาดดุลการค้าด้วยในระดับสูง 

(MFN rate + 36 % +Other duties /fees /Charges)


ทั้งนี้สินค้าที่ไม่ได้อยู่ภายใต้มาตรการ Reciprocal Tariffs นี้ ได้แก่ 

1. สินค้าที่อยู่ภายใต้มาตรา 232 อยู่แล้ว ได้แก่ เหล็ก/อลูมิเนียมและรถยนต์/ชิ้นส่วนรถยนต์ 

2. สินค้าที่ระบุไว้ในเอกสาร Annex II ของ EO ครอบคลุมทองแดง ผลิตภัณฑ์ยา เซมิคอนดักเตอร์ ไม้แปรรูป แร่ที่มีความสำคัญ และพลังงาน 

3.สินค้าอื่น ๆ ที่อาจถูกกำหนดให้อยู่ภายใต้มาตรา 232 ในอนาคต


ข้อมูล  :  กระทรวงพาณิชย์  รัฐบาลไทย  รัฐบาลสหรัฐฯ 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง