ด้านมืดล็อกดาวน์ รายการบีบีซีเผยเคสหญิงอังกฤษถูกสามีขืนใจ100ครั้ง
ด้านมืดล็อกดาวน์ - เดลีเมล์ รายงานว่า ผู้ชมรายการสารคดี “PANORAMA” (พานอรามา) ทางช่อง บีบีซี อังกฤษ ต่างสะเทือนใจ เมื่อรับรู้เรื่องราวน่าสลดใจของผู้หญิงที่รอดจากสามีที่ขืนใจเธอกว่า 100 ครั้งในช่วงล็อกดาวน์ แม้แต่พิธีกรของรายการก็สะเทือนใจด้วย เพราะเคยผ่านประสบการณ์เลวร้ายจากความรุนแรงในครอบครัวมาเช่นกัน
วิกตอเรีย ดาร์บีเชอร์ ผู้ดำเนินรายการพานอรามา กล่าวว่าเข้าใจความรู้สึกของเหยื่อที่ติดกับและถูกบังคับให้อยู่ร่วมบ้านกับผู้ละเมิดในระหว่างกักตัวในช่วงล็อกดาวน์เป็นอย่างดี เพราะพ่อของตนใช้ความรุนแรงในครอบครัวเช่นกัน
- พิธีกรหญิงสะเทือนใจ เมื่อหวนนึกถึงเรื่องราวของตนเอง ที่พ่อเคยทำร้ายแม่
รายการพานอรามาตอนนี้นำผู้ชมไปติดตามผลกระทบจากการอยู่ร่วมกับคนในบ้านที่เป็นผู้ล่วงละเมิดในระหว่างล็อกดาวน์
ข้อมูลสถิติระบุว่ามีผู้หญิงถูกกระทำความรุนแรงภายในบ้านพุ่งสูงมากขึ้นในช่วงล็อกดาวน์ โดยเหยื่อ 2 ใน 3 มีความสัมพันธ์ฉันท์ญาติ ทั้งถูกลักพาตัว จุดไฟเผา บังคับให้โป๊เปลือยหรือใช้ยาพิษ
เหยื่อคนหนึ่งที่ยอมเปิดเผยชีวิตขมขื่น ใช้ชื่อว่า “เจสส์” กล่าวว่าถูกสามีข่มขืนกว่า 100 ครั้ง ในช่วงที่กักตัวอยู่กับบ้านระหว่างล็อกดาวน์
“ฉันอยู่บ้านกับสามี เรากำลังนั่งฟังนายกฯ บอริส จอห์นสันพูด และเขาก็มองมาที่ฉัน เอามือไพล่หลังและแอ่นอกแสดงท่าทีข่มขู่ เขามองมาและพูดว่า "เริ่มเกมได้" ก่อนจะพูดข่มขู่ด้วยว่า "ถ้าคิดว่าจะมีอะไรแย่ก่อนข่มขืนแล้วละก็ เธอลำบากแน่ๆ"
- เจสส์เปิดเผยเรื่องราวสุดช็อก
"จากนั้น การข่มขืนก็เริ่มขึ้น มันแย่ แย่มาก แย่จริงๆ ม่านรูดปิดสนิท ทีวีเปิดเสียงดังลั่น ประตูหน้าล็อกแน่นหนา เปิดเพลงเสียงสนั่น ไม่มีใครได้ยินเสียงฉันกรีดร้องขอความช่วยเหลือ” เจสส์กล่าว
ในที่สุด เจสส์หลบหนีสามีออกมาได้ระหว่างที่เขาหลับ หญิงสาวต่อสัญญาณอินเทอร์เน็ตและพบวิธีติดต่อตำรวจด้วยการส่งข้อความให้มาช่วย
นอกจากกรณีเจสส์ ยังมีอีกหลายคนที่มีประสบการณ์เลวร้ายจากการตกเป็นเหยื่อถูกล่วงละเมิด
ผู้ชมแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อสังคมออนไลน์ว่ารู้สึกใจแหลกสลายที่ได้ยินเรื่องราวสะเทือนใจ
คนหนึ่งเขียนในทวิตเตอร์ว่า “น่าสลดใจจริงๆ ที่ได้ฟังเรื่องการละเมิดภายในบ้านช่วงล็อกดาวน์กับวิกตอเรีย ดาร์บีเชอร์”
ส่วนอีกคนหนึ่งเขียนว่า “พานอรามาตอนนี้ขยี้หัวใจฉัน”
รายการพานอรามาของบีบีซี ร่วมกับองค์กรวีแมนส์ เอด ตรวจสอบข้อมูลที่ได้จากตำรวจภายใต้กฎหมายการเปิดเสรีข้อมูล ทำให้พบว่าเฉพาะสัปดาห์แรกของการล็อกดาวน์ เจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งเรื่องล่วงละเมิดในบ้านทุกๆ 30 วินาที และเหยื่อร้อยละ 75 บอกเป็นเสียงเดียวกันว่ามาตรการกักตัวในบ้านของอังกฤษทำให้หนีคนที่ทำร้ายไม่ได้
วิกตอเรียย้อนความหลังถึงประสบการณ์เลวร้ายของตนเอง ว่าตัวเกร็งทุกครั้งที่ได้ยินเสียงพ่อไขกุญแจประตูหลังบ้านเพราะไม่รู้ว่าพ่ออารมณ์ไหนและจะก่อให้เกิดมีปากเสียงหรือไม่และลงท้ายด้วยการฟาดตนด้วยเข็มขัดหรือตบศีรษะไหม
- พิธีกรหญิงกลับมาบ้านที่ไม่เคยมานาน 35 ปี
พิธีกรหญิงเล่าว่า ถ้ามีโอกาสหนี ตนมักจะหนีไปบ้านเพื่อนที่ท้ายถนน จึงเข้าใจดีว่าเหยื่อที่ติดกับอยู่ในบ้านร่วมกับผู้ทำร้ายในช่วงล็อกดาวน์จะมีความรู้สึกอย่างไร
เมื่อได้ยินนายกรัฐมนตรีประกาศให้ทุกคนอยู่บ้านเพื่อสกัดการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ จึงนึกถึงคนที่ต้องอยู่บ้านกับคนทำร้าย ผู้หญิง ผู้ชายและเด็กๆ ตกเป็นเหยื่อนานหลายสัปดาห์และอะไรจะเกิดขึ้นกับพวกเขา
ช่วงหนึ่งของรายการที่กระทบใจคนดูมาก ถ่ายทอดให้เห็นวิกตอเรียกลับไปแอบดูบ้านที่เคยอยู่สมัยยังเด็กและเติบโตในลิตเติลโบโรห์ เมืองโรชเดล เป็นครั้งแรกในรอบ 35 ปี และกล่าวด้วยเสียงสั่นเครือ
https://www.facebook.com/bbcnews/videos/225258058821890
“ฉันร้องไห้จริงๆ น่าสลดใจ นี่คือบ้านที่ฉันเติบโตมา น่าประหลาดนะ ฉันไม่ได้อยู่ที่นี่นานนักและมีความทรงจำที่เปี่ยมไปด้วยความสุขแท้จริง แต่บางครั้งก็ขมขื่นเพราะพ่อใช้ความรุนแรง”
เมื่อ 50-40 ปีก่อนไม่มีใครรู้จักคำว่า “ความรุนแรงในครอบครัว” และไม่มีใครรู้จักความหมาย
วิกตอเรียกล่าวว่าถ้าพ่ออยู่บ้าน ทุกคนในบ้านอยู่ด้วยความหวาดกลัว ตนจำได้ว่าขณะที่ตนอายุ 12-13 ปี ครั้งหนึ่งพ่อขังแม่ไว้ในห้องนอนและลงไม้ลงมือกับแม่ ตนได้ยินเสียงร้องดังต่อเนื่องและตนกลัวมากจึงวิ่งไปแจ้งตำรวจว่าพ่อทุบตีแม่
ดังนั้น เมื่อนายกรัฐมนตรีบอกให้ชาวอังกฤษอยู่บ้าน ทำให้ตนคิดแว่บแรกขึ้นมาเลยว่าคนที่ต้องอยู่บ้านเดียวกับคนที่ใช้ความรุนแรงในบ้านเท่ากับติดกับดัก
- เมื่อนายกฯ ประกาศล็อกดาวน์ ผลกระทบที่ไม่คาดคิดก็ตามมา / BBC
ขณะที่กลุ่มช่วยเหลือผู้หญิงกล่าวว่าในช่วงล็อกดาวน์ทำให้มีกรณีการใช้ความรุนแรงในบ้านเพิ่มขึ้น
ด้านฟิโอนา ดไวเยอร์ ซีอีโอองค์กรโซเลซซึ่งเป็นองค์กรการกุศลช่วยเหลือสตรี กล่าวว่าหลังจากรัฐบาลอนุมัติเงินพิเศษ 2 ล้านปอนด์หรือประมาณ 82 ล้านบาทให้กับศูนย์ฮอตไลน์ต่างๆ ที่รับแจ้งเหตุความรุนแรง เป็นช่วงเวลาที่เลวร้ายมากเพราะไม่ควรมีเวลาแค่ 19 วันในการช่วยเหลือดำเนินการต่างๆ
ส่วนวิกตอเรีย แอตคินส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคุ้มครอง กล่าวว่าเมื่อหารือกับองค์กรการกุศลต่างๆ ทางกระทรวงตอบรับอย่างเต็มที่และถามกลับว่าตอ้งการจะให้กระทรวงช่วยเหลืออะไรเพื่อจะได้ช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรม