รีเซต

‘คนไว้ใจ ร้ายที่สุด’ เปิดสถิติความรุนแรงในครอบครัว เมื่อ 'บ้าน' ไม่ปลอดภัย และ 'เหล้า' คือสาเหตุ

‘คนไว้ใจ ร้ายที่สุด’ เปิดสถิติความรุนแรงในครอบครัว เมื่อ 'บ้าน' ไม่ปลอดภัย และ 'เหล้า' คือสาเหตุ
TNN ช่อง16
21 กุมภาพันธ์ 2567 ( 22:30 )
101
1
‘คนไว้ใจ ร้ายที่สุด’ เปิดสถิติความรุนแรงในครอบครัว เมื่อ 'บ้าน' ไม่ปลอดภัย และ 'เหล้า' คือสาเหตุ



นับเป็นคดีสะเทือนใจของคนในสังคมเป็นอย่างมาก เมื่อ นายทอย อายุ 33 ปี ตกเป็นผู้ต้องหาฆ่าอำพลางศพ “น้องนุ่น” อายุ 27 ปี ภรรยาตัวเองจนเสียชีวิต ขณะที่ลูกน้อยวัย 1 ขวบอยู่ในเหตุการณ์ด้วย ซึ่งเหตุเกิดเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา 


โดยนายทอย รับสารภาพ และให้การว่า ทะเลาะกันเพราะดื่มสุราแล้วเมาหลังจากไปเลี้ยงฉลองวันเกิดมา แล้วภรรยามีการพูดถึงแฟนเก่าของนายทอย จนทะเลาะเบาะแว้งกันในระหว่างเดินทาง จึงนำมาสู่การทำร้ายร่างกาย


เบื้องต้น พนักงานสอบสวน ได้แจ้งข้อหา กับผู้ต้องหา 2 ข้อหา คือฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และ ซ่อนเร้น อำพราง และทำลายศพ 


ในโลกออนไลน์ได้มีการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับคดีนี้เป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นคดีที่เกิดจากคนที่ ‘รัก’ ที่ ‘ไว้ใจ’ ลงมือก่อเหตุอย่างโหดเหี้ยม 


ทีมข่าว TNN ขอนำเสนอสถิติปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดขึ้น โดยในรอบ 7 ปีพบแนวโน้มการก่อเหตุรุนแรงเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า ตั้งแต่ปี 2559 - 2565 พบ ทั้งสิ้น 11,617 ราย


แนวโน้มการก่อเหตุรุนแรงเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า 


ก่อนหน้านี้ นางสาวจรีย์ ศรีสวัสดิ์ หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมภาคีเครือข่าย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า จากการสรุปสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวปี 2565 ที่เผยแพร่ผ่านสื่อต่าง ๆ พบแนวโน้มการก่อเหตุรุนแรงเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า 


โดยมีรายงานข่าวถึง 1,131 เหตุการณ์ เพิ่มจากปี 2564 ที่มี 373 เหตุการณ์ ปี 2563 มี 593 เหตุการณ์ ปี 2561 มี 623 เหตุการณ์ และ ปี 2559 มี 466 เหตุการณ์ 


ลักษณะที่พบมากสุดในปี 2565 คือ 

1. ฆ่ากัน 534 เหตุการณ์ คิดเป็น 47.2% 

2. ทำร้ายกัน 323 เหตุการณ์ คิดเป็น 28.6% 

3. ฆ่าตัวตาย 155 เหตุการณ์ คิดเป็น 13.7% 

4. ความรุนแรงทางเพศ 64 เหตุการณ์ คิดเป็น 5.6%  

5. ความรุนแรงในครอบครัว 55 เหตุการณ์ คิดเป็น 4.9% 


สถิติความรุนแรงในครอบครัว ในรอบ 7 ปี ระหว่างปีงบประมาณ 2559 - 2565


จากเอกสารสถิติความรุนแรงในครอบครัว ในรอบ 7 ปี ระหว่างปีงบประมาณ 2559 – 2565 เผยแพร่โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว พบว่า ตัวเลขในรอบย้อนหลังของความรุนแรงในครอบครัวนั้นเพิ่มสูงขึ้นทุกปี  ดังนี้ 


ปี 2559 จำนวน 1,001 ราย


ปี 2560 จำนวน 1,309 ราย


ปี 2561 จำนวน 1,353 ราย


ปี 2562 จำนวน 1,564 ราย


ปี 2563 จำนวน 1,866 ราย


ปี 2564  จำนวน2,177 ราย


ปี 2565 จำนวน 2,347 ราย


รวมทั้งสิ้น 11,617 ราย



“แอลกอฮอร์” ต้อตอ “ความรุนแรง” 


จากข้อมูลของ มูลนิธิเพื่อนหญิง ระบุ ‘เหล้า’ เป็นตัวการก่อความรุนแรงในครอบครัว  ผู้หญิง เด็ก เป็นเหยื่อถูกทำร้าย วันละ 63 คน เฉลี่ยชั่วโมงละ 3 คน เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี 12,031 คน และผู้หญิงอายุ 18 ปีขึ้นไป 10,894 คน  โดยส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นปัจจัยกระตุ้น 



เมื่อบ้าน (ไม่) ปลอดภัย 


ผู้หญิงไทย บาดเจ็บรุนแรงจากการถูกทำร้ายกว่าปีละ 8,577 ราย ถูกทำร้ายทางเพศด้วยกำลังกายมากที่สุด สถานที่เกิดเหตุคือที่บ้านของตนเอง


ข้อมูลการเฝ้าระวังความรุนแรงในผู้หญิงระหว่างปี 2562 – 2564 จากระบบเฝ้าระวังการบาดเจ็บ njury Surveillance : IS ใน โรงพยาบาล 51 แห่งทั่วประเทศ  เพื่อให้ ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญ จากผลกระทบของการใช้ความรุนแรงในผู้หญิง ซึ่งความรุนแรงที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นหนึ่งในปัญหาที่มีผลกระทบต่อครอบครัวและสังคมเป็นอย่างมาก 


สาเหตุส่วนใหญ่มาจากความสัมพันธ์ในครอบครัว สิ่งแวดล้อม และการใช้สารกระตุ้น เช่น แอลกอฮอล์ สารเสพติด


พบว่า ผู้หญิงบาดเจ็บรุนแรงจากการถูกทำร้ายกว่าปีละ 8,577 ราย กลุ่มอายุที่ถูกทำร้ายมากที่สุดคือ 20 – 24 ปี ร้อยละ 15 วิธีการถูกทำร้ายมากที่สุดคือ การถูกทำร้ายด้วยกำลังกาย ร้อยละ 60 สถานที่ถูกทำร้ายเป็นบริเวณบ้าน ร้อยละ 63.4 ซึ่งเป็นบ้านผู้บ้านเจ็บเองกว่า ร้อยละ 79.7 มีความเกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร้อยละ 11.3


สำหรับความรุนแรงทางเพศพบว่า ผู้หญิงอายุ 10-14 ปี ถูกทำร้ายทางเพศด้วยกำลังกายมากที่สุด ร้อยละ 31.4 สถานที่เกิดเหตุคือที่บ้าน ร้อยละ 62 เป็นบ้านตนเอง ร้อยละ 45.8 และเป็นบ้านคู่กรณี ร้อยละ 23.7 ช่วงเวลาที่เกิดเหตุมากที่สุดคือ 18.00 - 20.59 น. มีความเกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร้อยละ 8 


ประเด็นที่ต้องเฝ้าระวัง คือการถูกทำร้ายในเด็กแรกเกิด - 4 ปี พบสาเหตุจากการถูกทำร้ายแรงทางเพศเฉลี่ยปีละ 19 ราย หรือคิดเป็น ร้อยละ 34.8 จากสาเหตุการถูกทำร้ายที่มารับการรักษาในโรงพยาบาลที่เฝ้าระวัง การถูกทำร้ายด้วยกำลังกาย ร้อยละ 32.9 และการถูกทำร้ายด้วยวัตถุไม่มีคม ร้อยละ 10.4


การแก้ไขปัญหาโดยไม่ใช้กำลังหรือความรุนแรงระดับชุมชน ควรเพิ่มความเข้มงวดมาตรการควบคุมการใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสารเสพติด รณรงค์การไม่เพิกเฉยต่อความรุนแรงเมื่อพบเห็นการกระทำความรุนแรง ให้รีบแจ้งหน่วยงานที่รับผิดชอบทันที หรือโทรแจ้งสายด่วนศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300




ข้อมูล  :  กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข / สสส. / มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล / มูลนิธิเพื่อนหญิง / 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง