รีเซต

"กรมชลประทาน" โชว์นวัตกรรมจัดการน้ำ-สู้ภัยแล้ง

"กรมชลประทาน" โชว์นวัตกรรมจัดการน้ำ-สู้ภัยแล้ง
TNN ช่อง16
15 พฤษภาคม 2566 ( 13:28 )
77
"กรมชลประทาน" โชว์นวัตกรรมจัดการน้ำ-สู้ภัยแล้ง

ภัยแล้ง อีกหนึ่งภัยธรรมชาติที่ประเทศไทยต้องเผชิญอยู่ทุกปี โดยทางรัฐบาลต้องหาวิธีแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพเพื่อรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

หนึ่งในงานวิจัยของกลมชลประทาน "การศึกษาสารประกอบอินเทอร์คาเลชันในดิน" โดยนายนิติกรณ์ เชื้อกุณะ ถือเป็นการพัฒนาเทคนิคใหม่เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการวิเคราะห์การกระจายตัวของดินในพื้นที่ชลประทาน และเป็นการสร้างองค์ความรู้และฐานข้อมูลที่น่าเชื่อถือ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาให้ใช้งานได้จริง ง่ายต่องานภาคสนามและปฏิบัติการ 

โดยงานวิจัยของกลมชลประทาน ได้รับการสนับสนุนงบประมาณงานมูลฐานปีงบประมาณ 2564 จากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมกว่า 55 ล้านบาท ซึ่งผลงานที่ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วสามารถสนับสนุนการดำเนินงานด้านวิศวกรรมชลประทานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 

รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) พร้อมผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ ได้เยี่ยมชมงานวิจัยอื่นๆ ของกลมชลประทาน อาทิเช่น "การบริหารจัดการรองรับภัยแล้งต้นแบบของพื้นที่ชลประทานอ่างเก็บน้ำชลประทานขนาดกลาง 20 แห่ง" โดยนายสุวัฒน์ พาหุสุวัณโณ เพื่อสร้างนวัตกรรมต้นแบบการบริหารจัดการน้ำที่เหมาะสมกับบริบทของชุมชน โดยองค์ความรู้นี้ได้ถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกรประมาณ 10,000 คน ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีช่องทางสื่อสารกับเจ้าหน้าที่โครงการและเข้าถึงข้อมูลเพื่อตัดสินใจเพาะปลูกพืช ทั้งนี้กรมชลประทานจะขยายผลไปใช้ในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางอื่น ๆ ในอนาคต

"การกำจัดวัชพืชน้ำในอ่างเก็บน้ำเพื่อลดผลกระทบการสูญเสียน้ำในช่วงฤดูแล้ง" โดย น.ส.อุไร เพ่งพิศ  เป็นการใช้สารกำจัดวัชพืชในพื้นที่ที่แพร่ระบาดอย่างเหมาะสม โดยใช้โดรนฉีดพ่น มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม ผลการวิจัยพบว่าสามารถกำจัดผักตบชวา ไมยราบยักษ์ กกกาบประน้อย และจอกหูหนู รวมวัชพืชที่กำจัดได้ประมาณ 11,000 ตัน ลดการสูญเสียน้ำ เพิ่มพื้นที่ผิวน้ำในอ่างเก็บน้ำมากกว่าร้อยละ 98 และผู้ใช้น้ำใช้ประโยชน์ได้สะดวกมากขึ้น

ส่วนงานวิจัยที่เปิดตัวไปเมื่อปี 2565 "การพัฒนาระบบคาดการณ์ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง" จำนวน 412 แห่ง โดยนายพีระพงศ์ รัตนบุรี จะช่วยลดผลกระทบจากภัยแล้งและอุทกภัยทั้งในและนอกเขตพื้นที่ชลประทาน มีน้ำต้นทุนเพียงพอในทุกกิจกรรม เพิ่มคุณภาพชีวิตและความมั่นคงของเกษตรกร ลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม 

และโครงการ "การพัฒนาเครื่องมือสำรวจระยะไกลเพื่อประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยอันเกิดจากน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำมูลตอนล่าง" ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี โดยนายวชิระ สุรินทร์ วางแผนจะขยายผลดำเนินการสำรวจพื้นที่ลุ่มน้ำบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก และพื้นที่ลุ่มต่ำบางพลวง จังหวัดปราจีณบุรี รวมถึงสำรวจความสมบูรณ์ของข้าวในแปลงทดลองเพื่อวิเคราะห์ค่าคงที่สมดุลและค่าดัชนีความต่างพืชพรรณพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบางเลน จังหวัดนครปฐม

ภายหลังเยี่ยมชมผลงาน ผู้อำนวยการ สกสว.ได้ให้ข้อเสนอแนะว่า การตั้งโจทย์และสมมติฐานตั้งแต่ต้นมีความสำคัญว่าจะดำเนินการวิจัยเพื่อเป้าหมายใด สามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุดหรือไม่ รวมถึงต้องมีแรงบันดาลใจในการทำงานที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศด้านการบริหารจัดการน้ำอย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดการสูญเสียน้ำ



ที่มาข้อมูล : TNN ONLINE

ที่มาภาพ : TNN 


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง