พลาสติกชนิดใหม่ ย่อยสลายในทะเลเร็วกว่ากระดาษ
นักวิจัยจากสถาบันสมุทรศาสตร์วูดส์โฮล (Woods Hole Oceanographic Institution หรือ WHOI) ประเทศสหรัฐอเมริกา ค้นพบว่าเซลลูโลสไดอะซีเตท (Cellulose Diacetate หรือ CDA) ซึ่งเป็นไบโอพลาสติกชนิดหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรม เช่น ไส้กรองบุหรี่ กรอบแว่นกันแดด และฟิล์มถ่ายรูป เป็นพลาสติกประเภทที่ย่อยสลายได้เร็วที่สุดในน้ำทะเล โดยย่อยสลายเร็วกว่ากระดาษ
โดยนักวิจัยได้ดัดแปลง CDA ด้วยวิธีการที่เรียกว่าโฟมมิ่ง (Foaming) ซึ่งเป็นการทำให้ CDA เป็นรูพรุนขนาดเล็ก จากนั้นได้นำไปทดสอบในถังเก็บน้ำ ซึ่งจำลองสภาพแวดล้อมให้เหมือนในทะเล เช่น การจำลองการไหลของน้ำ ควบคุมแสง อุณหภูมิ และตัวแปรอื่น ๆ ที่สำคัญ
ไบรอัน เจมส์ (Bryan James) ผู้นำการวิจัยกล่าวว่า “การใช้ถังเก็บน้ำทะเลที่ไหลต่อเนื่อง ช่วยให้เราสามารถนำพลวัตของมหาสมุทรที่มีจุลินทรีย์เข้ามาในห้องทดลองได้ เราเติมจุลินทรีย์และสารอาหารเข้าไปถัง ทำให้การทดลองมีความสมจริงต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น”
เมื่อจำลองสภาพแวดล้อมแล้ว นักวิจัยได้นำหลอดที่สร้างจาก CDA แบบเป็นรูพรุนลงไปแช่ในน้ำเป็นระยะเวลา 36 สัปดาห์ เปรียบเทียบกับพลาสติกชนิดอื่น ๆ เช่น CDA แบบแข็ง พลาสติกมาตรฐาน และกระดาษ ผลลัพธ์พบว่า CDA แบบมีรูพรุน ย่อยสลายเร็วที่สุด โดยสูญเสียมวลเดิมไปประมาณร้อยละ 65-70
จากนั้นนักวิจัยได้ทำการทดลองโดยการแช่หลอดเปรียบเทียบเฉพาะ CDA แบบเป็นรูพรุน และ CDA แบบแข็ง พบว่าหลอด CDA แบบเป็นรูพรุน มีอัตราการย่อยสลายเร็วกว่าหลอดแบบแข็งถึงร้อยละ 190
การค้นพบครั้งนี้นับว่ามีความสำคัญ เนื่องจากหากมีการนำ CDA แบบเป็นรูพรุนมาใช้อย่างแพร่หลาย มันก็อาจช่วยลดปัญหาด้านขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งลงทะเลหลายล้านตันต่อปี ทั้งนี้นักวิจัยรายงานว่า CDA แบบเป็นรูพรุนนี้ ได้ถูกผลิตและเข้าสู่ตลาดแล้ว โดยบริษัทอีสต์แมน (Eastman) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตไบโอพลาสติกในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ผลิตถาดพลาสติก CDA แบบเป็นรูพรุนสำหรับบรรจุอาหารแบบซื้อกลับบ้าน ถาดนี้มีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา และเมื่อเลิกใช้งานแล้วสามารถกลายเป็นปุ๋ยหมักได้
งานวิจัยนี้ตีพิมพ์ในวารสาร ACS Publications ฉบับวันที่ 17 ตุลาคม 2024
ที่มาข้อมูล WHOI, NewAtlas, ACS Publications
ที่มารูปภาพ WHOI