รีเซต

เจ๋งแจ๋ว! อังกฤษสร้างหุ่นยนต์ไว้เก็บหน่อไม้ฝรั่งแทนคนที่ปกติต้องเสียเวลาเป็นเดือน

เจ๋งแจ๋ว! อังกฤษสร้างหุ่นยนต์ไว้เก็บหน่อไม้ฝรั่งแทนคนที่ปกติต้องเสียเวลาเป็นเดือน
TNN ช่อง16
17 สิงหาคม 2565 ( 15:32 )
98

หน่อไม้ฝรั่งเป็นพืชอุตสาหกรรมที่เพาะปลูกในอังกฤษ อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญที่ทำให้หน่อไม้ฝรั่งมีราคาสูงเกิดจากขั้นตอนการเก็บเกี่ยวหน่อไม้อ่อนที่ต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษและเสียเวลาในการเก็บกว่า 12 สัปดาห์ แต่ว่ามัดดี้แมชชีนส์ (Muddy Machines) สตาร์ตอัปจากอังกฤษเปิดตัวหุ่นยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติสำหรับการเก็บเกี่ยวหน่อไม้ฝรั่งโดยเฉพาะ


มัดดี้แมชชีนส์ (Muddy Machines) เกิดขึ้นจากการระดมความคิด (Brain Strom) แบบออนไลน์ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 (COVID-19) เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคการเกษตรของประเทศ โดยเลือกแก้ปัญหาในการทำไร่หน่อไม้ฝรั่งเป็นอย่างแรก และเริ่มพัฒนาตัวต้นแบบในเดือนตุลาคมปี 2020 


หลังจากใช้เวลาเกือบ 2 ปี และเงินลงทุนพัฒนาไปกว่า 1.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเกือบ 64 ล้านบาท มัดดี้แมชชีนส์ (Muddy Machines) ก็ได้เปิดตัว สเปราต์ (Sprout) หุ่นยนต์เก็บหน่อไม้ฝรั่ง (Asparagus) น้ำหนักเบา ทำงานด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ผสานเข้ากับกล้องและเซ็นเซอร์ต่าง ๆ รอบคัน ติดตั้งกระบะ 4 ใบ สำหรับบรรทุกหน่อไม้ฝรั่งที่เก็บขึ้นมาที่ส่วนท้ายของหุ่นยนต์ แต่ละใบรองรับน้ำหนักไม่น้อยกว่า 4 กิโลกรัม เคลื่อนที่ด้วยความเร็วไม่ต่ำกว่า 2 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สามารถแยกแยะระหว่างหน่อไม้ฝรั่งกับวัชพืช รวมถึงแยกแยะหน่อไม้ฝรั่งที่พร้อมเก็บกับยังโตไม่เต็มที่ได้อีกด้วย โดยสเปราต์ (Sprout) สามารถทำงานต่อเนื่องได้สูงสุดวันละ 16 ชั่วโมง เพียงพอต่อการทดแทนแรงงานที่ปกติต้องใช้เวลาถึง 12 สัปดาห์ เพื่อเก็บเกี่ยวหน่อไม้ฝรั่งในพื้นที่เท่ากัน


หุ่นยนต์เก็บหน่อไม้ฝรั่งสเปราต์ (Sprout) เข้าไปทดสอบเก็บผลผลิตในไร่คอเบรย์ (Cobrey Farms) ไร่หน่อไม้ฝรั่งขนาดใหญ่ที่สุดของอังกฤษ ตั้งในเฮริฟอร์ดเชอร์ (Herefordshire) ทางทิศตะวันตกของประเทศ ผลลัพธ์ที่ได้นั้นทำให้เจ้าของไร่มองว่าเทคโนโลยีนี้จะช่วยให้ไร่สามารถจัดการแรงงานในไร่ไปทำงานส่วนอื่นแทนการเก็บหน่อไม้ฝรั่งที่ต้องใช้เวลาถึง 12 สัปดาห์


บริษัท มัดดี้แมชชีนส์ (Muddy Machines) คาดว่าจะสามารถผลิตสเปราต์ (Sprout) ได้ภายในปี 2023 เพื่อให้ทันฤดูกาลเก็บเกี่ยวหน่อไม้ฝรั่งรอบถัดไป จากนั้นจะนำปัญหาและผลตอบรับ (Feedback) มาปรับปรุงความสามารถของหุ่นยนต์ต่อไป






ที่มาข้อมูล The Robot Report

ที่มารูปภาพ Muddy Machines


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง