ค้าปลีก 7 เดือน เสียหาย 2.7 แสนล้าน คาดร้านค้าอีก 1 แสนรายต้องปิดตัว
ข่าววันนี้ นางสาวชลิดา จันทร์สิริพงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัทกลุ่มเซ็นทรัล จำกัด และกรรมการและเลขานุการกลุ่มค้าปลีก และบริการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อุตสาหกรรมค้าปลีกเดือนกรกฎาคมถือว่าต่ำสุดในรอบ 16 เดือน ช่วง 7 เดือนเสียหายแล้ว 2.7 แสนล้านบาท จากเดิมต่อปีภาพรวมค้าปลีกไทยมีมูลค่า 4.4 ล้านล้านบาท แต่ตอนนี้เหลือ 3.8 ล้านล้านบาท ซึ่งจากการแพร่ระบาดโควิดมากขึ้นจนยกระดับมาตรการ กระทบต่อระบบการค้ารวดเร็วด้วย
อย่างด้านอาหารสดหรือแห้งนั้น การผลิตไม่ได้ขาดแคลนแต่ตอนนี้ขาดแรงงานขนส่งกระจายสินค้า เพราะแรงงานเริ่มติดเชื้อมากขึ้น ประกาศเคอร์ฟิวจำกัดเวลาเดินทางและส่งของ จากปัญหานี้กำลังสะสมให้วัตถุดิบอาหารเหลือแค่ 30% หากไม่สามารถแก้ปัญหาได้ก่อนเดือนตุลาคมนี้ กระทบต่อธุรกิจมากขึ้น
โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีที่เป็นสัดส่วน 1/3 หรือประมาณ 1.2 ล้านราย เฉลี่ย 1 รายจ้างแรงงาน 10 คน เท่ากับกระทบต่อแรงงาน 10 ล้านคนในครั้งเดียว บางรายเริ่มปรับราคาสินค้าเพราะไม่ได้เข้าโครงการคนละครึ่งที่รัฐช่วยเหลือรายได้กึ่งหนึ่ง ก็น่าจะทบทวนเพื่อให้ร้านค้าย่อยในห้างอยู่ได้ อีกทั้งการเข้าไม่ถึงโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ(ซอฟต์โลน)ของภาครัฐ อย่างกลุ่มเซ็นทรัลส่งรายชื่อเอสเอ็มอีกว่า 3 หมื่นรายให้ธนาคารพิจารณาปล่อยกู้ แค่อนุมัติจริงไม่ถึง 10% หากภายใน 30 วันจากนี้ ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือการเข้าถึงแหล่งทุน และรัฐยังต่อมาตรการคุมเข้ม จะมีร้านค้าอีก 1 แสนรายต้องปิดตัว
.
นายสุรงค์ บูลกุล ที่ปรึกษาคณะกรรมการกลุ่มค้าปลีกและบริการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผลสำรวจโมเดิร์นเทรด สะท้อนว่าการแพร่ระบาดของโควิดและการใช้มาตรการเข้มข้น กระทบต่อห่วงโซ่การค้า โดยเฉพาะค้าปลีกกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน ภาคเอกชนจึงขอเสนอให้รัฐช่วยเหลือเร่งด่วนนิติบุคคลและค้าปลีกย่อย 3 ประเด็น คือ
1. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการใชั้จ่าย ขอให้นำ ช้อป ช่วย ชาติ เพิ่มวงเงินเป็น 1 แสนบาทโดยไม่จำกัดสินค้า เพิ่มใช้คนละครึ่งกับรายย่อยในห้าง
2.ลดภาระค่าใช้จ่าย เช่น ขยายการลดภาษีที่ดินและการค้า 90% ที่จะหมดปี2564 ต่อไปถึงปี 2565 รวมถึงลดค่าสาธารณูปโภคให้นิติบุคคลและผู้ค้าเอสเอ็มอี เพื่อให้มีเงินส่วนหนึ่งประคองธุรกิจ
3.ผ่อนปรนให้การจัดส่งสินค้ารายย่อยทั่วไป สามารถจัดส่งสินค้าในช่วงค่ำหรือช่วงเคอร์ฟิว เพราะการจัดส่งสินค้ามักทำในเวลาค่ำถึงกลางคืน เพื่อให้สินค้าได้มีเพียงพอกับการจำหน่าย ซึ่งขณะนี้ติดปัญหาเรื่องแรงงานลดลง และขาดซัพพลายเชน
4.รัฐออกมาตรการและเข้มงวดการฉวยปรับขึ้นราคาสินค้าแบบไม่มีเหตุผลในช่วงโควิด
5.เร่งฉีดวัคซีนให้กับบุคลากรด้านค้าปลีก และผู้ค้าเอสเอ็มอี เพื่อให้สามารถเปิดดำเนินการได้ปกติเร็วขึ้น
ในขณะนี้ โมเดิร์นเทรดและค้าปลีกทั่วไปด้วย เจอผลกระทบ 2 ด้าน คือ ดีมานหรือยอดขายลดลง แต่ค่าใช้จ่ายประจำยังมีอยู่ ทำให้ส่วนใหญ่แบกรับภาระรายได้ไม่พอรายจ่าย จนขาดสภาพคล่อง อีกด้านคือเจอปัญหาห่วงโซ่ผลิตและแรงงานผลิตและป้อนสินค้าไปถึงแหล่งค้าปลีกลดลงรวดเร็ว จนเกิดภาวะสินค้าตึงตัวบางช่วงเวลาหรือบางพื้นที่ สะสมนานไปจะเกิดปัญหาได้ 2 ส่วนนี้ที่รัฐควรเร่งช่วยเหลือ