รีเซต

จีนใจกว้าง ! เปิดให้นักวิจัยนานาชาติใช้ตัวอย่างดวงจันทร์จากยาน Chang'e 5

จีนใจกว้าง ! เปิดให้นักวิจัยนานาชาติใช้ตัวอย่างดวงจันทร์จากยาน Chang'e 5
TNN ช่อง16
16 สิงหาคม 2566 ( 18:07 )
98

นับเป็นครั้งแรกที่องค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) ได้เปิดโอกาสให้นักวิจัยนานาชาตินำตัวอย่างหินดวงจันทร์จากภารกิจฉางเอ๋อ 5 (Chang'e 5) ไปใช้ทำงานวิจัยได้ ตามแถลงการณ์เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2023 ที่ผ่านมา


การส่งมอบตัวอย่างหินดวงจันทร์ 

โดยหน่วยงานที่สนใจสามารถส่งคำขอไปยังองค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีนได้ ซึ่งจะได้รับการพิจารณาคำขอทุก ๆ 6 เดือน หลังจากนั้นศูนย์สำรวจดวงจันทร์และวิศวกรรมอวกาศ (LESEC) จะช่วยจัดการงานวิจัยให้กับคำขอที่ผ่านการพิจารณา ในขณะที่สถาบันวิทยาศาสตร์จีน (CAS) จะทำหน้าที่ส่งมอบและรับคืนตัวอย่างหินดวงจันทร์


สำหรับภารกิจฉางเอ๋อ 5 ถูกส่งไปยังดวงจันทร์เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2020 ลงจอดบนดวงจันทร์เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2020 และเดินทางกลับถึงโลกในวันที่ 16 ธันวาคม 2020 ซึ่งนำตัวอย่างหินดวงจันทร์หนัก 1.73 กิโลกรัม กลับมาด้วย อันเป็นตัวอย่างที่มาได้จากบริเวณมหาสมุทรแห่งพายุ (Oceanus Procellarum)


โดยองค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีนได้เปิดให้หน่วยงานในประเทศจีนนำตัวอย่างหินดวงจันทร์ดังกล่าวไปศึกษามานานแล้ว ซึ่งช่วยให้ค้นพบเบาะแสหลายอย่าง เช่น ธาตุและปริมาณน้ำในตัวอย่างหินดวงจันทร์

ภารกิจฉางเอ๋อ 6 (Chang'e 6) 

ปัจจุบันประเทศจีนตั้งเป้าที่จะส่งภารกิจฉางเอ๋อ 6 (Chang'e 6) ไปยังดวงจันทร์ภายในเดือนพฤษภาคม 2024 และจะทำการเก็บตัวอย่างหินดวงจันทร์จากบริเวณหลุมอุกกาบาตอพอลโล (Apollo Crater) กลับมายังโลก เพื่อทำการศึกษาต่อไป


สำหรับเหตุผลที่หลาย ๆ ชาติพยายามศึกษาดวงจันทร์ เพราะต้องการหาความเป็นไปได้ในการก่อตั้งอาณานิคมมนุษย์บนดวงจันทร์ เพราะดวงจันทร์จะกลายเป็นจุดพักสำคัญของมนุษยชาติในการเดินทางเพื่อสำรวจห้วงอวกาศที่ไกลกว่าเดิมในอนาคต


ข้อมูลจาก CNSA

ภาพจาก Planetary

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง