รีเซต

เจาะพิภพสร้างพลังงาน ! MIT คิดวิธีระเหยหินแกนโลก ใช้ความร้อนมาสร้างไฟฟ้า

เจาะพิภพสร้างพลังงาน ! MIT คิดวิธีระเหยหินแกนโลก ใช้ความร้อนมาสร้างไฟฟ้า
TNN ช่อง16
7 เมษายน 2567 ( 11:39 )
40

มนุษย์เรากำลังมองหาวิธีการใหม่ ๆ เพื่อผลักดันพลังงานหมุนเวียน ล่าสุดบริษัทเควส เอเนอร์จี (Quaise Energy) ซึ่งเป็นบริษัทที่แยกตัวจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) วางแผนที่จะใช้เทคโนโลยีทำให้หินในแกนโลกกลายเป็นไอและใช้พลังงานความร้อนใต้พิภพมาผลิตพลังงานไฟฟ้า


ปัจจุบันความลึกที่สุดที่มนุษยชาติสามารถเจาะลงไปใต้พื้นโลกนั้นคือ 40,230 ฟุต หรือ 12,262 เมตร อยู่ที่หลุมเจาะโคลา ซุปเปอร์ดีป โบร์โฮล (Kola Superdeep Borehole) ประเทศรัสเซีย ซึ่งกว่าจะขุดลงไปได้ลึกขนาดนี้ก็ใช้เวลานานถึง 20 ปี ด้านเควส เอเนอร์จี ต้องการขุดลึกลงไปในระดับ 65,000 ฟุต หรือ 20,000 เมตร ด้วยความลึกที่มากขึ้น รวมถึงต้องการใช้เวลาน้อยลงด้วย เทคนิคการขุดเจาะแบบเดิม ๆ ไม่สามารถทำได้ ทำให้เควส เอเนอร์จีต้องพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ 


เทคโนโลยีที่เควส เอเนอร์จีกำลังจะพัฒนา ใช้องค์ความรู้ที่ได้จากการพัฒนาแสงเลเซอร์ทดลองปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชัน (Fusion reaction) ของสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ประเทศสหรัฐอเมริกา จากนั้นปรับเปลี่ยนเพื่อให้สามารถเจาะทะลุหินได้ ซึ่งพลังงานไมโครเวฟกำลังสูงที่ใช้เพื่อให้ความร้อนพลาสมาในการทดลองฟิวชันก็จะทำให้หินกลายเป็นไอ


ที่ระดับความลึกนี้ อุณหภูมิภายในโลกจะสูงประมาณ 500 องศาเซลเซียส ไอน้ำที่ได้จะคล้ายคลึงกับไอน้ำที่ได้จากโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าแบบใช้ถ่านหินและแก๊สให้ความร้อน บริษัทจึงตั้งใจที่จะจำลองการผลิตพลังงานไฟฟ้าแบบนี้เอง ทั้งนี้บริษัทอ้างว่า โรงไฟฟ้าความร้อนใต้พิภพลึกนี้สามารถสร้างพลังงานได้มากกว่าแหล่งพลังงานความร้อนใต้พิภพทั่วไปถึง 10 เท่า ให้กำลังโหลดพื้นฐาน (Baseload Power) ตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน และถือเป็นการก้าวเข้าสู่วิธีการผลิตพลังงานสะอาดใหม่ ๆ ทำได้ทั่วไปบนโลก และที่สำคัญคือใช้พื้นที่น้อยมาก ๆ คิดเป็นประมาณเพียงร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับเทคโนโลยีพลังงานทดแทนอื่น ๆ ทั้งนี้บริษัทเชื่อว่า ด้วยวิธีการนี้จะทำให้ผลิตพลังงานระดับเทราวัตต์ได้อย่างรวดเร็ว


ทั้งนี้ พลังงานทดแทน อย่างเช่นโครงการพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม ได้รับการสนับสนุนอย่างมากเพื่อบรรลุเป้าหมายปล่อยคาร์บอนเป็น 0 แต่ปัญหาก็คือเทคโนโลยีเหล่านี้ใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ ในขณะเดียวกันที่ดินก็ถือเป็นทรัพยากรที่มีจำกัด ดังนั้นโครงการพลังงานหมุนเวียนบางโครงการ จึงต้องไปดำเนินการในทะเลแทน ซึ่งก็จะส่งผลให้ต้นทุนสูงขึ้น


ดังนั้นโครงการพลังงานความร้อนใต้พิภพลึก จึงถือว่าเข้ามาแก้ไขปัญหานี้ได้ โดยมีศักยภาพในการผลิตพลังงานจำนวนมากแต่ใช้พื้นที่น้อยลง 


ทั้งนี้เควส เอเนอร์จี ตั้งเป้าเข้าไปใช้โรงไฟฟ้าถ่านหินเก่า ใช้โครงสร้างพื้นฐานเดิมที่มีอยู่แล้วเพื่อดำเนินการเพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่าย ส่วนการดำเนินการ ล่าสุดได้ทดสอบเทคโนโลยีที่ห้องปฏิการแห่งชาติโอ๊ก ริดจ์ (Oak Ridge) รัฐเทนเนสซี สหรัฐฯ และจะมีการสาธิตภาคสนามในปลายปี 2024 นี้


ในการระดมทุนรอบล่าสุด บริษัทระดมทุนได้ 21 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 750 ล้านบาท อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากบริษัทยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่นคือ มิตซูบิชิ รวมถึงบริษัทร่วมทุนอื่น ๆ ด้วย ซึ่งบริษัทตั้งใจที่จะใช้เงินทุนนี้เพื่อการสำรวจทางธรณีวิทยา ดำเนินการสำรวจสนามแม่เหล็กและแผ่นดินไหว เพื่อเลือกสถานที่ที่เหมาะสมในการดำเนินการโครงการนำร่องต่อไป


ที่มาข้อมูล InterestingEngineeringQuaise.Energy

ที่มารูปภาพ Quaise.Energy

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง