รีเซต

(คลิป) เร่งรัฐบาลไทยตั้งจุดรับแรงงานต่างชาติ

(คลิป) เร่งรัฐบาลไทยตั้งจุดรับแรงงานต่างชาติ
TNN ช่อง16
27 ธันวาคม 2564 ( 11:48 )
102


       แผนนำเข้าแรงงานต่างชาติคือ เมียนมา กัมพูชา และลาว ถูกนำมาใช้ในช่วงรัฐบาลเปิดประเทศและขับเคลื่อนพลิกฟื้นเศรษฐกิจ เพื่อให้ดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมายในลักษณะ MOU แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานในช่วงโควิด-19 ระบาด และป้องกันความเสี่ยงแรงงานต่างชาตินำเชื้อเข้ามาแพร่ในประเทศไทย


       ข้อมูลจากกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานพบว่า ตั้งแต่วันที่ 1-24 ธันวาคม มีนายจ้างชาวไทยยื่นเรื่องขอนำเข้าแรงงานต่างชาติแล้วเกือบ 45,000 คน ขณะนี้กระทรวงแรงงานได้ส่งเรื่องต่อไปยังสถานทูตทั้ง 3 ประเทศ เพื่อให้ดำเนินการจัดหาแรงงานตามความต้องการของนายจ้างไทย จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนลงนาม MOU ในสำนักงานที่ตั้งอยู่ตามแนวชายแดนจังหวัดตาก ระนอง สระแก้ว หนองคาย และมุกดาหาร แต่ติดปัญหาเรื่องประเทศต้นทางยังจัดหาแรงงานได้ไม่ครบตามจำนวน และสถานที่กักตัวตามมาตรการป้องกันโควิด-19 ของภาครัฐและเอกชนมีไม่เพียงพอ ทำให้เกิดความล่าช้า แต่เชื่อว่าจะนำแรงงานต่างชาติกลุ่มแรกเข้ามาได้ภายในเดือนมกราคมปีหน้า ซึ่งความล่าช้าที่เกิดขึ้น ทำให้หลายฝ่ายเสนอให้รัฐบาลไทย ตั้งสำนักงานรับแรงงานต่างชาติในประเทศต้นทางแบบวันสต็อบเซอร์วิส เพื่ออำนวยความสะดวกและลดขั้นตอนดำเนินการให้เร็วขึ้น เพื่อให้ได้แรงงานทันตามความต้องการของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในไทย และยังแก้ปัญหาแรงงานเถื่อน ที่มีนายหน้านำเข้าแรงงานอย่างผิดกฏหมายด้วย ซึ่งอธิบดีกรมการจัดหางาน ยืนยันว่า แนวทางนี้มีการหารือกัน แต่ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะนำมาใช้ดำเนินการ เพราะเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน


ค่าใช้จ่ายนำเข้าแรงงานต่างชาติตาม MOU 


1.ค่าตรวจโควิด 2,600 บาท

2.ค่าวีซ่า 2 ปี 2,000 บาท

3.ค่าใบอนุญาตทำงาน 2 ปี 1,900 บาท

4.ค่าตรวจสุขภาพ 6 โรค 500 บาท

5.ค่าประกันสุขภาพ 990 บาท

6.ค่าฉีดวัคซีน 50 บาท 

7.ค่าสถานที่กักตัววันละ 500-1,000 บาท 

รวม 11,490-22,040 บาทต่อคน


ตัวเลขนี้ อธิบดีกรมการจัดหางานยืนยันว่า ใกล้เคียงกับตัวเลขที่แรงงานต่างชาติจ่ายให้กับนายหน้าหลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฏหมาย จึงเรียกร้องให้ผู้ประกอบการไทยและแรงงานต่างชาติ ดำเนินการอย่างถูกต้อง เพื่อไม่ต้องทำงานแบบหลบซ่อน หรือถูกโกงปล่อยทิ้งกลางทาง ที่สำคัญจะช่วยตัดตอนขบวนการขนแรงงานเถื่อนให้หมดสิ้นไปด้วย



ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง