รีเซต

เปิดประวัติศาสตร์ 161 ปี ฉางอาน (Changan) แบรนด์รถเบอร์ใหญ่แดนมังกร ที่หลายคนเพิ่งรู้จัก

เปิดประวัติศาสตร์ 161 ปี ฉางอาน (Changan) แบรนด์รถเบอร์ใหญ่แดนมังกร ที่หลายคนเพิ่งรู้จัก
TNN ช่อง16
2 ธันวาคม 2566 ( 15:11 )
185
เปิดประวัติศาสตร์ 161 ปี ฉางอาน (Changan) แบรนด์รถเบอร์ใหญ่แดนมังกร ที่หลายคนเพิ่งรู้จัก

หนึ่งในแบรนด์รถที่มีผู้สนใจเยอะมาก ๆ ในงาน Motor Expo 2023 ที่อิมแพคเมืองทองธานีก็คือแบรนด์รถจากแดนมังกรอย่าง ฉางอาน (Changan) ซึ่งได้เปิดราคารถยนต์พลังงานไฟฟ้าดีพอล L07 (Deepal L07) เริ่มต้น 1.329 ล้านบาท 


ทั้งนี้แม้ในงานบูธฉางอานจะแทบแตกเพราะคนเยอะมาก แต่ฉางอานเพิ่งจะมาเป็นกระแสในไทยเมื่อไม่นานมานี้เอง หลาย ๆ คนอาจจะเพิ่งเคยได้ยินชื่อ หรืออาจจะคิดว่าเป็นแบรนด์น้องใหม่จากจีนหรือเปล่า ซึ่งก็ต้องบอกว่าไม่ใช่ เพราะนี่เป็นแบรนด์ผู้ผลิตรถยนต์ 1 ใน 4 ยักษ์ใหญ่ของจีน หรือที่เรียกว่าบิ๊กโฟร์ (Big Four) และก่อตั้งมานาน 161 ปีแล้ว ประวัติและความเป็นมาเป็นอย่างไร มาทำความรู้จักกัน



จุดเริ่มต้นของฉางอาน ออโต้โมบิล (Changan Automobile) ย้อนกลับไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 1862 เมื่อหลี่ หงจาง (Li Hongzhang) ซึ่งเป็นทั้งนักการเมือง นายพล และนักการทูตของจีนในสมัยราชวงศ์ชิงตอนปลายได้ก่อตั้งสำนักงานปืนต่างประเทศในเซี่ยงไฮ้ (Foreign Gun Bureau in Shanghai) ซึ่งถือเป็นบริษัทวิศวกรรมสไตล์ตะวันตกบริษัทแรกของจีน เป้าหมายคือเพื่อนำเข้าอาวุธทุกชนิดจากต่างประเทศ เพื่อใช้ในช่วงเวลาที่ราชวงศ์ชิงต้องเผชิญกับปัญหาหลายอย่าง ทั้งความขัดแย้งภายใน ภัยคุกคามจากยุโรปและญี่ปุ่น จากนั้นได้ย้ายบริษัทไปที่ซูโจว ตามด้วยหนานจิง (ไม่ปรากฏปีที่ย้าย) และได้เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็นสำนักการผลิตเครื่องจักรเจียหลิง (Jialing Machinery Manufacturing Bureau) นอกจากค้าอาวุธแล้วยังมีการผลิตด้วย โรงงานผลิตอาวุธเจียหลิงถือว่าเป็นผู้จัดหาอาวุธรายสำคัญให้ราชวงศ์ชิงในช่วงการทำสงครามกับฝรั่งเศส (1884 - 1885) และสงครามครั้งแรกกับญี่ปุ่น (1894-1895)


ในปี 1937 เกิดสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่ 2 และญี่ปุ่นสามารถยึดครองดินแดนบางส่วนของจีนไปได้ รวมถึงเซี่ยงไฮ้ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากหนานจิง ทำให้โรงงานผลิตอาวุธต้องย้ายไปยังฉงชิ่งด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย เปลี่ยนชื่อเป็นทเวนตี้เฟิร์สอาร์เซนอล (21st Arsenal) ต่อมาในปี 1949 คอมมิวนิสต์ก็เข้ามามีอำนาจในจีน ทำให้ 21st Arsenal อยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงอุตสาหกรรมทหาร (Ministry of Military Industry) และตั้งชื่อใหม่ว่า โรงงานของกองบัญชาการกลางสรรพาวุธแห่งที่ 456 (Central Ordnance General Administration’s 456th Plant)


ตรงนี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของการเริ่มผลิตรถยนต์ของฉางอาน ในปี 1959 พวกเขาได้เริ่มพัฒนารถออฟโรดชื่อฉางเจียง ไทม์ 46 (Changjiang type 46) แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น โรงงานผลิตเครื่องจักรฉางอาน (Changan Machinery Manufacturing Plant) ทั้งนี้ Changjiang type 46 ถือเป็นรถยนต์ที่จีนผลิตเป็นคันแรก และปรากฎตัวสู่สาธารณะครั้งแรกในขบวนพาเหรดครบรอบ 10 ปี ของสาธารณรัฐประชาชนจีน


ในปี 1984 ได้สร้างรถมินิคันแรกที่ชื่อสตาร์ (Star) และมันประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก จนกระทั่งในปี 1999 ความสำเร็จนั้นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ เรื่อยมาจนกระทั่งปี 2006 บริษัทได้นำชื่อ ฉางอาน มาเป็นชื่อแบรนด์และชื่อบริษัทอย่างเป็นทางการ พร้อมเปิดตัวรถเบนนี (Benni) ซึ่งเป็นรถโดยสารคันแรกของฉางอาน ทั้งนี้ในภาษาจีน ฉาง (CHANG) หมายถึง ยั่งยืน และ อาน (AN) หมายถึง ความปลอดภัย ดังนั้นฉางอานจึงสื่อถึงแนวคิด “ความปลอดภัยที่ยั่งยืน”


ในปี 2010 ฉางอาน กลายเป็นผู้ผลิตรถยนต์ที่มียอดขายมากที่สุดอันดับ 4 ในอุตสาหกรรมยานยนต์จีนด้วยยอดขาย 2.38 ล้านคัน ส่วนในปี 2021 มียอดขายรถยนต์ 2.30 ล้านคัน เป็นอันดับ 4 ในจีน ส่วนอันดับ 1 ได้แก่ เอสเอไอซีมอเตอร์ (SAIC Motor) ยอดขาย 5.37 ล้านคัน อันดับ 2 คือเอฟเอดับเบิลยู กรุ๊ป (FAW Group) ยอดขาย 3.50 ล้านคัน อันดับ 3 คือตงเฟิงมอเตอร์ (Dongfeng Motor Corporation) ยอดขาย 3.28 ล้านคัน ทั้ง 4 อันดับนี้รวมกันเรียกว่าบิ๊กโฟร์ (Big Four)


ฉางอาน วางแผนที่จะหยุดขายรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน (Internal-Combustion Engines หรือ ICE) ภายในปี 2025 หลังจากนั้นจะผลิตและจำหน่ายเฉพาะรถยนต์ไฮบริดและรถยนต์ไฟฟ้า และบริษัทยังได้บอกว่ามีแผนเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้า 21 รุ่นในปี 2021 - 2025 ซึ่งคาดว่าจะทำให้มียอดขายรถยนต์ไฟฟ้ามากกว่า 1 ล้านคัน


ปัจจุบันนี้ ฉางอาน ออโต้โมบิล ได้ถูกจัดให้อยู่ในรายชื่อ 20 บริษัทใหญ่ที่สุดในประเทศจีน และเป็นบริษัทผลิตรถยนต์ที่มีอันดับที่ 17 ของโลก


สำหรับฉางอานในประเทศไทย ตอนนี้ได้ลงทุนกว่า 9,800 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ยนต์ไฟฟ้าในไทย โดยได้ลงนามซื้อขายที่ดินกับบริษัทเกี่ยวกับการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอย่างดับบลิวเอชเอ (WHA) ที่จังหวัดระยอง และถือเป็นโรงงานของฉางอานโรงงานแรกในอาเซียน วางแผนผลิตรถยนต์ไฟฟ้า EV, PHEV, REEV (Range Extended EV) และแบตเตอรี่ วางกำลังการผลิตในระยะแรก 100,000 คันต่อปี ส่วนรุ่นรถที่นำเข้ามาจำหน่ายในไทยปัจจุบันมี 2 รุ่นที่เพิ่งเปิดราคาในงาน Motor Expo 2023 เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา คือ Deepal L07 ราคา 1.329 ล้านบาท และ Deepal S07 ราคา 1.399 ล้านบาท


ที่มาข้อมูล Carnewschina, Tcchangan, Wikipedia, Globalchangan, Changansouth

ที่มารูปภาพ Wikipedia, Wha-Group, Ichongqing, Inspiredpencil, Changanusa, Gettyimage

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง