รีเซต

บางชาติเครือจักรภพอาจจัดประชามติสาธารณรัฐ ในยุค "กษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3"

บางชาติเครือจักรภพอาจจัดประชามติสาธารณรัฐ ในยุค "กษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3"
Ingonn
13 กันยายน 2565 ( 10:41 )
207

การเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และการเสด็จขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 นั้น อาจนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงอีกหนึ่งประการ คือ สายสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษกับชาติอดีตอาณานิคม 

 

การออกจากเงาอิทธิพลของอังกฤษ

ขณะนี้กษัตริย์ของอังกฤษ มีสถานะเป็นประมุขแห่งรัฐของ 14 ชาติ ซึ่งเป็นอดีตชาติอาณานิคมของอังกฤษ ในช่วงการครองราชย์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 หลายชาติได้มีถกกันมาบ้างแล้วเรื่อง การออกจากเงาอิทธิพลของอังกฤษ และสถาปนาเป็นสาธารณรัฐ โดยมีประมุขแห่งรัฐของตนเอง โดยอ้างถึงการอยู่ภายใต้อิทธิพลหลังยุคอาณานิคมของอังกฤษนั้น ทำให้หวนนึกถึงยุคอาณานิยมค้าทาสที่โหดร้าย


ทั้งนี้ ชาติอดีตอาณานิคมของอังกฤษยังมีสายสัมพันธ์อันดีกันภายใต้การรวมกลุ่มที่เรียกว่าเครือจักรภพ ซึ่งมีสมาชิกโดยสมัครใจถึง 56 ประเทศ โดยแต่ละประเทศต่างมีความเชื่อมโยงกันทางประวัติศาสตร์ มีระบบกฎหมายและการเมืองการปกครองที่คล้ายคลึงกัน ตลอดจนมีการแลกเปลี่ยนระหว่างกันในด้านกีฬา วัฒนธรรม และการศึกษา นอกจากนี้ แม้เครือจักรภาพ ไม่มีข้อตกลงทางการค้าอย่างเป็นทางการระหว่างกัน แต่ชาติสมาชิก มักทำการค้าระหว่างกันมากกว่าปกติอยู่แล้ว

 

มี 14 ประเทศ ที่ยังมีกษัตริย์อังกฤษเป็นประมุขของรัฐในเชิงสัญลักษณ์

ประเทศสมาชิกส่วนใหญ่ของเครือจักรภพนั้นเป็นสาธารณรัฐอิสระ ไม่ได้มีความเชื่อมโยงกับราชวงศ์อังกฤษ แต่ขณะนี้ มี 14 ประเทศ ที่ยังมีกษัตริย์อังกฤษเป็นประมุขของรัฐในเชิงสัญลักษณ์อยู่


คือ แอนติกาและบาร์บูดา, ออสเตรเลีย, หมู่เกาะบาฮามาส, เบลิซ, แคนาดา, เกรนาดา, จาไมกา, นิวซีแลนด์, ปาปัว นิว กินี, เซนต์ คิตส์และเนวิส, เซนต์ ลูเซีย, เซนต์ วินเซนต์และเกรนาดีนส์, หมู่เกาะโซโลมอน และตูวาลู


ใน 14 ประเทศดังกล่าว จะมีผู้แทนของกษัตริย์อังกฤษ ในตำแหน่งข้าหลวงใหญ่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ฯ ซึ่งจะประกอบหน้าที่แทนพระองค์ในพิธีการสำคัญ เช่น การสาบานตนของสมาชิกรัฐสภา เป็นต้น


เมื่อกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 เสด็จขึ้นครองราชย์ ชาติเหล่านี้ ได้มีการจัดพิธีประกาศให้กษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 เป็นพระประมุขของรัฐไปแล้ว โดยแคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และหมู่เกาะบาฮามาสได้ทยอยจัดพิธีดังกล่าวช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา


บรรดานักประวัติศาสตร์ระบุกับ นิวยอร์ก ไทมส์ ว่า กว่าเจ็ดทศวรรษที่สมเด็จพระราชินีชาถเอลิซาเบธที่ 2 ครองราชย์บัลลังก์ พระราชกรณียกิจและรอยยิ้มของพระองค์ทำให้ภาพความรุนแรงของจักรวรรดินิยมอังกฤษในอดีตอ่อนลง และพระองค์เป็นผู้ที่ทำให้จิ๊กซอว์ทั้งหมดต่อรวมกันได้ แต่เมื่อพระองค์สวรรคตแล้ว จึงไม่แน่ใจว่า จิ๊กซอว์จะยังยึดต่อกันหรือไม่


ทั้งนี้ ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ขึ้นครองราชย์ในสถานการณ์ที่แตกต่างจากตอนนี้ การเปลี่ยนผ่านราชบัลลังก์เกิดขึ้นขณะพระองค์ประพาสอยู่เคนยาพอดีในปี 1952  จึงทำให้ภารกิจการเปลี่ยนผ่านจากระบอบอาณานิคมนั้นราบรื่นขึ้น ขณะที่ช่วงคริสต์มาสปี 1953 พระองค์มีพระราชดำรัสมาจากนิวซีแลนด์


ตลอดรัชสมัย พระองค์เสด็จฯ ไปเยือนเกือบ 200 ประเทศทั่วโลก และได้ทรงเผชิญกับการประกาศเอกราชและสาธารณรัฐของชาติต่าง ๆ ครั้งแล้วครั้งเล่า เช่น อินเดีย ปากีสถาน ไนจีเรีย ศรีลังกา และเมื่อปีที่แล้ว บาร์เบโดสเป็นชาติล่าสุด

 

กระแสความเปลี่ยนแปลงในบางประเทศ

เมื่อวันที่ 10 ก.ย. นายกรัฐมนตรีของ แอนติกาและบาร์บูดา ได้ประกาศแผนที่จะจัดการลงประชามติเกี่ยวกับการเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐภายในสามปีจากนี้


นายกรัฐมนตรีของแอนติกาและบาร์มูดากล่าวว่า ความเคลื่อนไหวนี้ ไม่ได้เป็นการกระทำอันเป็นปฏิปักษ์แต่อย่างใด แต่การทำให้แอนติกาและบาร์มูดาเป็นสาธารณรัฐนั้นคือก้าวแรกของการเป็นเอกราชเพื่อกลายเป็นรัฐอธิปไตยที่แท้จริง


ขณะที่พรรคแรงงาน ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลของจาไมกา ได้ประกาศเช่นกัน ว่าจะจัดการลงประชามติเพื่อเป็นสาธารณรัฐ
แต่ที่ออสเตรเลีย การสวรรคตของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ทำให้มีการถกเรื่องประมุขของรัฐอีกเช่นกัน แต่นายกรัฐมนตรีแอนโทนี อัลบานีซี กล่าวว่า จะไม่มีการทำประชามติในการดำรงตำแหน่งสมัยแรกของเขา นี่คือช่วงเวลาที่ออสเตรเลียร่วมรู้สึกแห่งความโศกเศร้า และควรแสดงความเคารพและความชื่นชมต่อการอุทิศตนของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ให้ออสเตรเลีย

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

ทุกประเด็นร้อนข่าวสาร สาระ ทันเหตุการณ์ พูดคุยกันได้ 24 ชม.

คลิกเลย >>> TrueID Community <<<

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง