รีเซต

ธุรกิจยุคโควิด-19 ต้องไปต่ออย่างไร เมื่อ”ล็อกดาวน์”

ธุรกิจยุคโควิด-19 ต้องไปต่ออย่างไร เมื่อ”ล็อกดาวน์”
Ingonn
19 เมษายน 2564 ( 15:11 )
462

แม้ตอนนี้ไม่ได้มีมาตรการ “ล็อกดาวน์” ทั่วประเทศ แต่เป็นแบ่งจังหวัดควบคุมการแพร่ระบาด โดยมีเวลาเปิด-ปิดกิจการที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโควิด-19 ซึ่งภาคธุรกิจทั้งร้านค้า ห้างสรรพสินค้า หรือสถานที่ให้บริการต่างๆ ต้องปรับตัวไปตามสถานการณ์ให้ได้เพื่อความอยู่รอด

 

 

หากไม่ปรับตัว ธุรกิจไปไม่รอดแน่ โดยเจ้าของธุรกิจต่างๆ ได้เคยพูดถึงการปรับตัวเมื่อเข้าสู่ช่วงโควิด-19 ไว้ ดังนี้

 

 

ฟรีแลนซ์เริ่มหางานประจำ


“พรลัดดา เดชรัตน์วิบูลย์” ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตำแหน่งที่เคยจ้างฟรีแลนซ์ หรือOutsource ทำงานเป็นครั้งคราวลดลง คนที่รับงานฟรีแลนซ์จึงพยายามหางานทำ แต่บริษัทต่าง ๆ ไม่เปิดรับพนักงานในลักษณะลูกจ้างประจำมากนัก เพราะเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น 

 

จากสถิติตั้งแต่ปี 2562 มีฟรีแลนซ์เริ่มปรับทิศเพื่อหาประจำทำมากขึ้น ทั้ง ๆ ที่ขณะนั้นโควิดยังไม่ระบาด มีการประกาศผ่านทางจ๊อบส์ ดีบี เพื่อรับฟรีแลนซ์เข้าทำงานทั้งหมด 817 ตำแหน่ง ปรากฏว่ามีผู้เขียนใบสมัครออนไลน์กว่า 28,662 ใบ

 

ส่วนปี 2563 ประกาศหางานตำแหน่งฟรีแลนซ์เพียง 698 ตำแหน่ง มีผู้เขียนใบสมัครออนไลน์สูงขึ้นถึง 35,872 ใบ เป็นไปได้ว่าในปี 2564 ลักษณะการหางานทำในรูปแบบฟรีแลนซ์คงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แม้คนที่เคยทำงานฟรีแลนซ์กำลังมองหางานประจำเพิ่มขึ้น เพราะมีความมั่นคงในอาชีพมากกว่า มีสวัสดิการต่าง ๆ ช่วยให้อยู่รอดปลอดภัยในสถานการณ์เช่นนี้

 

 

WFH กระทบออฟฟิศให้เช่า


“รุ่งรัตน์ วีระภาคการุณย์” หัวหน้าแผนกพื้นที่สำนักงานซีบีอาร์อี ประเทศไทย เปิดเผยว่า การทำงานที่บ้าน WFH (work from home) เป็นมาตรการที่ใช้รักษาระยะห่างทางสังคมในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้หลายบริษัททบทวนกลยุทธ์การจัดพื้นที่ทำงาน (workplace strategy) บางแห่งก็เริ่มเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงาน และสถานที่ทำงานของแต่ละหน่วยธุรกิจในองค์กร ทั้งนี้ พฤติกรรมการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงแรงกดดันด้านการเงินส่งผลให้ผู้เช่าหลายรายลดขนาดพื้นที่สำนักงานลง พบว่าช่วง 9 เดือนแรกปี 2563 ปริมาณการใช้พื้นที่สำนักงานเพิ่มขึ้นเพียง 21,000 ตร.ม. เทียบกับช่วง 9 เดือนแรกปี 2562 เพิ่มขึ้น 128,000 ตร.ม.


ขณะเดียวกันการเช่าพื้นที่ล่วงหน้าเกิดขึ้นในกลุ่มธุรกิจที่มีการขยายตัวอย่างอีคอมเมิร์ซ และแพลตฟอร์มด้านเทคโนโลยี ที่มีความต้องการใช้พื้นที่สำนักงานเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว 

 

 

ท่องเที่ยว New Normal


“ยุทธศักดิ์ สุภสร” ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) บอกว่า นับจากนี้เป็นต้นไปเชื่อว่ารูปแบบของการท่องเที่ยวและพฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวของคนทั่วโลกจะไม่เหมือนเดิม หลัก ๆ ที่จะเห็นชัดคือ นักท่องเที่ยวจะให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในชีวิตความเป็นอยู่ระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น นั่นหมายความว่า ต้นทุนของการบริการด้านการท่องเที่ยวและบริการต่าง ๆ อาจเพิ่มสูงขึ้น เพราะทุกบริการต้องมีมาตรฐานที่เป็นสากล ไม่ว่าสายการบิน โรงแรม สถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหาร ฯลฯ


นอกจากนี้ การท่องเที่ยวในรูปแบบกรุ๊ปทัวร์ขนาดใหญ่จะลดลง ความเป็น mass tourism จะเริ่มหายไป การท่องเที่ยวเชิงปริมาณจะปรับเข้าสู่เชิงคุณภาพชัดเจนขึ้น ความนิยมในการเดินทางแบบกรุ๊ปเล็ก ๆ จะมีบทบาทมากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามแนวทางของ social distancing


ขณะเดียวกัน รูปแบบการท่องเที่ยวที่น่าจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในอนาคต คือ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หรือ health and wellness tourism มีความเป็นไปได้สูงว่าหากการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศกลับมาอีกครั้ง นักท่องเที่ยวอาจต้องมีหนังสือเดินทางสำหรับสุขภาพโดยเฉพาะ หรือที่เรียกว่า health passport เพื่อตรวจสอบสุขภาพก่อนการเดินทาง ภายใต้แนวคิด FTT หรือ fit to traveling

 

 

แบงก์ประคองลูกหนี้


“ปิติ ตัณฑเกษม” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย (ทีเอ็มบี) ชี้ว่า ธุรกิจธนาคารพาณิชย์เผชิญกับสิ่งที่เกิดขึ้นทางด้านดิจิทัล ต้องปรับตัวมาโดยตลอด แต่โควิด-19 มาเป็นตัวเร่งให้คนไทยเข้าสู่ดิจิทัลเร็วขึ้น ทำให้ลูกค้าเดินเข้าสาขาธนาคารลดลง หันมาใช้ดิจิทัลมากขึ้น

 

ภาพจากนี้ไป บทบาทธนาคารต้องชัดขึ้นว่าจะต้องประคองลูกค้า และแยกลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด รวมถึงการจับมือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และรัฐบาล ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ประคองลูกค้าให้หนีภัยครั้งนี้ได้อย่างเป็นระบบ คือ

 

1.กลุ่มที่ไปไม่รอด ต้องช่วยประคองให้เปลี่ยนถ่ายไปสู่ธุรกิจใหม่ได้ เพราะถ้ากลุ่มนี้ตกลงแรง จะกระทบการจ้างงาน คนตกงานจำนวนมาก หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) พุ่งขึ้นรวดเร็ว


2.กลุ่มที่พอไปได้ ต้องช่วยให้เดินไปได้ต่อไป จะเป็นกลุ่มช่วยพยุงระบบเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป


3.กลุ่มสร้าง New S-curve เพื่อให้ธุรกิจที่ไปไม่รอด หรือไปไม่ไหวในธุรกิจเดิม และสามารถเปลี่ยนไปสู่ธุรกิจใหม่ได้ จะเป็นกลไกขับเคลื่อนเพื่ออนาคต

 

 

10 แนวทางที่ต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ

 

1.พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ และปรับตัวให้ไว 
รู้จักเตรียมพร้อมอยู่เสมอ และรับมือกับการเปลี่ยนแปลง เพื่อการพัฒนา เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส อาจเป็นการศึกษาเรียนรู้จากธุรกิจอื่นๆ ให้ธุรกิจต้องรอดและเติบโตได้ 

 

2.ช่องทางการขาย “ออนไลน์” 
โลกออนไลน์ถือเป็นช่องทางการเพิ่มโอกาสและเพิ่มการเข้าถึงลูกค้าที่ได้ผลดีที่สุดในปัจจุบันกับทุกธุรกิจ

 

3.ปรับตัวสู่เดลิเวอรี่
ผู้ประกอบการร้านอาหาร ก็เป็นอีกหนึ่งกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิดเช่นกัน เพราะมาตรการแรกๆ ที่ภาครัฐประกาศเพื่อควบคุมการระบาดโควิดคือ "สั่งปิดร้านอาหาร" หรือเปิดร้านได้แต่ให้สั่งแบบกลับบ้านเท่านั้น การปรับตัวเข้าเดลิเวอรี่อาจเป็นการเพิ่มช่องทางการขายให้เข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น


4.บริหารเงินที่ลดน้อยลงให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย
มีมากลงทุนมาก มีน้อยลงทุนน้อย ไม่ประมาท จะใช้จ่ายอะไรต้องระวังมากขึ้นกว่าเดิม หรือเลือกใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็นและที่สำคัญ หรือลดค่าใช้จ่ายตัวเอง เช่น งดออกไปกินข้าวนอกบ้านที่เป็นมื้อใหญ่ๆ ตามร้านหรู ร้านบุฟเฟ่ต์ รวมถึงงดซื้อสิ่งของฟุ่มเฟือยต่างๆ อย่างกระเป๋า เสื้อผ้า เป็นต้น

 

5.ออมเงินไว้ ไม่ใช้เกินตัว
ในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ ไม่ควรลงทุนเกินตัว และไม่ควรใช้เงินล่วงหน้า ต้องมีสติในการใช้จ่ายลงทุนทางธุรกิจ เพื่อจะได้มีเงินสำรองไว้ใช้

 

6.มองหาพาร์ทเนอร์ หรือพันธมิตรทางธุรกิจ 
คนไทยจะผ่านวิกฤตครั้งนี้กันไปได้ ก็ต้องอาศัยความร่วมมือ ร่วมด้วยช่วยกัน เกื้อหนุนส่งเสริมทางด้านธุรกิจ สร้างแคมเปญ มอบส่วนลดและกิจกรรมพิเศษสำหรับลูกค้าร่วมกัน 

 

7.Hybrid Working รูปแบบการทำงานใหม่แห่งอนาคต
เป็นวิธีการทำงานรูปแบบใหม่ ที่พนักงานไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศทุกวัน โดยสามารถเลือกทำงานได้ทั้งจากออฟฟิศและทำงานจากที่ไหนก็ได้ ซึ่งการ Hybrid Working นี้ยังทำให้องค์กรยังรักษาวัฒนธรรมและความสัมพันธ์ภายในองค์กรได้ ขณะเดียวกันพนักงานก็มีอิสระในการทำงานมากขึ้นจากการทำงานที่ยืดหยุ่น และช่วยคลายความกังวลจากการเผชิญความเสี่ยงกับโรคระบาด และลดต้นทุนที่เกี่ยวข้องจากความสามารถในการสลับกันเข้าใช้ออฟฟิศของพนักงานเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันได้อีกด้วย

 

8.ปรับตัวให้เร็ว มองหาอาชีพใหม่
หากธุรกิจเดิมไม่สอดคล้องกับการทำงานในสภาวะการแพร่ระบาดของโควิด-19 แล้ว หรือตกงาน ถูกปลดออกจากบริษัท ควรรีบปรับตัวให้เร็วและมองหาอาชีพใหม่ ซึ่งมาหลายเว็บไซต์ที่มีครอสสอนออนไลน์เพิ่มทักษะให้แก่เรา


สำหรับพนักงานที่ขาดรายได้ อยากหารายได้เสริม แต่ไม่มีความรู้ ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร NEA จะเข้าไปช่วย โดยจัดทำหลักสูตรขึ้นมา มีลิสต์หลักสูตรส่งให้ไปเรียน สามารถเรียนเองได้ผ่านทางออนไลน์ เรียนเสร็จจะได้ปรับ Mind Set ในการเป็นผู้ประกอบการ และจะได้เริ่มขายสินค้าได้ เพราะช่องทางก็มีให้แล้ว หากสนใจที่จะเรียนหลักสูตรเชิงลึกเพิ่มเติม NEA ก็พร้อมที่จะเข้าไปช่วยสอนให้ต่อเนื่อง ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ >> คลิก

 

9.หารายได้เสริมอีก
พยายามหารายได้เสริมเรื่อยๆ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินให้ตนเอง เช่น ทำงานพิเศษต่างๆ งานไหนทำได้ก็จะรับทำทันที และงดซื้อของฟุ่มเฟือยที่ไม่จำเป็น

 

10.อย่าประมาท รู้จักมองหา 'โอกาส' ใน 'วิกฤติ'
คำแนะนำจาก “ธนินท์ เจียรวนนท์” ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่ระบุว่า การระบาดของโควิด-19 ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างใหญ่หลวง แต่หากมองในแง่บวกจะพบว่าวิกฤตินี้เต็มไปด้วย 'โอกาสที่ยิ่งใหญ่' เพราะประเทศไทยร่ำรวยวัฒนธรรม มีจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวโดดเด่น มีแพทย์พยาบาลท่ีเก่งรองรับบริการสุขภาพได้ยอดเยี่ยม สามารถก้าวเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชียได้.


“ทุกคนต้องคิดบวก อย่าคิดลบ ตอนมืดที่สุด ก็ต้องคิดแล้วว่าถ้ากลับมาสว่างจะทำยังไง ตอนสว่างที่สุด ร่าเริงที่สุด ต้องคิดว่าถ้าเกิดวิกฤติเราจะพร้อมสู้หรือยัง” ต้องเตรียมรับวิกฤติที่จะเจอทุกวัน “อย่าประมาท”  

 

 

 

ข้อมูลจาก กรุงเทพธุรกิจ , thunkhaotoday , ประชาชาติธุรกิจ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง