เมื่อมังกรประสานมือเอกชนสู้เทรดวอร์ 2.0 (ตอน 2) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เมื่อมังกรประสานมือเอกชนสู้เทรดวอร์ 2.0 (ตอน 2)
มีประเด็นและประโยคเด็ดอะไรบ้างในระหว่างการพบปะกันของผู้นำจีนกับผู้บริหารของเอกชนจีนและกิจการข้ามชาติ ไปคุยกันต่อเลยครับ ...
ประการแรก โดยที่จีนเป้าหมายสำคัญที่ต้องการสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นอีกครั้งในหมู่นักลงทุนต่างชาติ คล้ายกับในยุคแรกหลังการเปิดประเทศสู่โลกภายนอกและการเผชิญวิกฤติหลายครั้งที่ผ่านมา และรู้ดีว่า การตีข่าวใน “เวทีพิเศษ” เหล่านี้จะทำให้เกิดกระแสข่าวเชิงบวกแก่จีน และกลบกระแสข่าวเชิงลบจากสงครามการค้า 2.0 ในเวทีโลกได้
เราจึงเห็นผู้นำจีนกล่าวเน้นย้ำว่า “จีนมีเสถียรภาพทางการเมืองและสังคมมาอย่างยาวนาน และกำลังอยู่บนเส้นทางสู่ความทันสมัยในทุกด้าน” กล่าวคือ จีนเป็นผู้สนับสนุนหลักและเป็นจุดยึดเหนี่ยวของเสถียรภาพการเติบโตของโลกเป็นเวลาหลายปี จีนมีตลาดผู้บริโภคที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกและเป็นประเทศรายได้ปานกลางที่ใหญ่ที่สุด จึงมีศักยภาพที่ดีสำหรับการผลิต การบริโภค และการลงทุน รวมทั้งได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่ปลอดภัยที่สุดในโลก
หากจีนสามารถบรรลุเป้าหมายอัตราการเติบโต 5% ที่กำหนดไว้ในปี 2025 ได้ก็จะยิ่งเป็นการตอกย้ำถึงบทบาทที่เพิ่มขึ้นของเศรษฐกิจจีนในภูมิภาคเอเซียและเวทีโลก เพราะในการประชุม BFA ที่ผ่านมาก็มีรายงานระบุว่า เศรษฐกิจของเอเซียในปี 2025 จะเติบโต 4.5% เมื่อเทียบกับของปีก่อน ทำให้มีส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นเป็น 48.6% ของจีดีพีโลก
แต่เป้าหมายและการคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนและเอซียดังกล่าวดูจะ “ท้าทายเป็นอย่างมาก” เมื่อจีนและสหรัฐฯ ตอบโต้ทางด้านภาษีและมาตรการอื่นๆ กันอย่างอีรุงตุงนัง
ไทม์ไลน์การพบปะและหารือระหว่างผู้บริหารระดับสูงของจีนกับภาคเอกชน
กิจกรรม | งาน | เวลาและสถานที่ |
พบหารือกิจการจีนและต่างชาติ | CIIE | ต้นพฤศจิกายน 2024 ณ เซี่ยงไฮ้ |
พบหารือกิจการไฮเทคของจีน | มหาศาลาประชาชน | กลางเดือนกุมภาพันธ์ 2025 ณ ปักกิ๋ง |
พบหารือกิจการข้ามชาติ และองค์การระหว่างประเทศ | CDF | 23-24 มีนาคม ณ ปักกิ่ง |
พบหารือผู้แทนรัฐบาล กิจการข้ามชาติและองค์การระหว่างประเทศ | BFA | 25-28 มีนาคม ณ ปั๋วอ่าว ไฮ่หนาน |
พบกิจการข้ามชาติและสมาคมธุรกิจ | มหาศาลาประชาชน | 28 มีนาคม ณ ปักกิ่ง |
ขณะเดียวกัน ผลจากนโยบายการเพิ่มรายได้และสวัสดิการให้กับประชาชน เช่น เงินบำนาญ และการสาธารณสุข และการขยายเงินอุดหนุนในแคมเปญ “เก่าแลกใหม่” ในหลายกลุ่มสินค้า อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ ก็ทำให้ภาคการผลิตของจีนพลิกกลับมาอยู่ในข่าย “ขยายตัว” เพิ่มขึ้น
โดยในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2025 โดยดัชนีผู้จัดการจัดซื้อ (Purchasing Manager’s Index) เพิ่มขึ้นจาก 50.2 ในเดือนกุมภาพันธ์เป็น 50.5 ในเดือนมีนาคม
ประการสำคัญ ความต้องการภายในประเทศของจีนที่เพิ่มขึ้นยังจะช่วย “ดูดซับ” อุปทานส่วนเกินของภาคการผลิตที่ได้รับผลกระทบจากการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ และยังจะช่วยลดแรงกดดันต่อการทุ่มตลาดของสินค้าจีนในตลาดต่างประเทศที่หลายคนกังวลใจได้ในระดับหนึ่ง
ขณะเดียวกัน ด้วยความมุ่งมั่นในการพัฒนาคุณภาพสูง จีนยังกำลังเร่งการเปลี่ยนแปลงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดิจิตัล และอัจฉริยะ ควบคู่ไปกับระบบนิเวศของหลากหลายอุตสาหกรรมที่ซับซ้อน ซึ่งจะทำให้จีนกลายเป็นพื้นที่นำร่องที่ดีที่สุดของการปฏิวัติเทคโนโลยีและการยกระดับอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ ช่องทางการค้าปลีกแบบดั้งเดิมในหัวเมืองใหญ่ของจีนยังพยายามเสริมสร้างความกระชุ่มกระชวยกับการช้อปปิ้งเพื่อต่อสู้กับกับการค้าออนไลน์ผ่านการตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคในการมี “ประสบการณ์ร่วม” และให้ความสำคัญกับ “บริการ” มากขึ้น จนกลายเป็น “กระแสหลัก” ในจีนในระยะหลัง
ผมสังเกตเห็นช่องทางการค้าปลีกแบบดั้งเดิมในจีนเร่งปรับเปลี่ยนรูปแบบและปรับปรุงรูปโฉมให้สอดรับกับ “ไลฟสไตล์” ของกลุ่มเป้าหมายเฉพาะกันมากขึ้น โดยมีเหตุการณ์โควิด-19 และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นปัจจัยสำคัญ
เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค ช่องทางหลายแห่งปรับโฉมใหม่ โดยลดพื้นที่การขายและเปลี่ยนเป็น “พื้นที่ธุรกิจอัจฉริยะ” ด้านการศึกษาและสุขภาพ เช่น สถาบันสอนภาษาและการเขียนอักษรจีน สปาและศูนย์ดูแลสุขภาพ รวมทั้งขยายช่องทางเดินและพื้นที่สาธารณะเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีแก่ลูกค้า
หลายแห่งหันมาจับกลุ่มวัยรุ่นและคนหนุ่มสาว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Gen Z และผู้ที่ชื่นชอบคอสเพลย์ บางรายขยับเข้าไปสู่เวทีแอนิเมชั่น การ์ตูน และเกมส์ (ACG) ยกตัวอย่างเช่น ศูนย์การค้าใหม่ที่นครเหอเฝย (Hefei) มณฑลอานฮุย ด้านซีกตะวันออกของจีน จัดพื้นที่ชั้น 1 เป็นพื้นที่เฉพาะสำหรับงานแสดงอนิเมะและสินค้า ACG ซึ่งทำให้ผู้คนรู้สึกว่าการไปช้อปปิ้งในวันนี้เป็นเสมือนการผจญภัย ไม่น่าเบื่อ ส่งผลให้ศูนย์การค้าแห่งนี้มีสีสันและคึกคักเป็นอย่างมาก
ห้างสรรพสินค้าหลายแห่งยังเปลี่ยนพื้นที่ภายในที่ดูอึดอัดเป็นลานกลางแจ้งที่เปิดโล่งสำหรับการเล่นปิงปอง บ้าง โรลเลอร์สเก็ตบ้าง บางแห่งปรับเปลี่ยนเป็นตลาดสด ร้านหนังสือ ร้านกาแฟที่มีอัตราการบริโภคอยู่ในช่วง “ขาขึ้น” รวมทั้งพื้นที่สีเขียวเพื่อการพักผ่อนแก่สาธารณชน ซึ่งช่วยดึงดูดผู้คนให้มาใช้เวลาในห้างฯ เพิ่มขึ้น ทำให้ห้างฯ กลายเป็น “จุดนัดพบ” ของผู้คนในย่านแถบนั้น และนำไปสู่กิจกรรมส่งเสริมการขายและรายได้ที่เพิ่มขึ้น
ก็ต้องไปติดตามกันว่า นโยบายส่งเสริมของภาครัฐและการปรับตัวของภาคเอกชนจีนจะทำให้ภาคการผลิตและการบริโภค รวมถึงการจ้างงานในปีนี้กลับมามีชีวิตชีวาได้อย่างที่หวังไว้ได้หรือไม่
คุยประเด็นอื่นกันต่อในตอนหน้าครับ …