นักวิทย์ฯ คิดค้น "หน้าต่างอัจฉริยะ" ใช้ของเหลวเพื่อลดความร้อน ช่วยประหยัดพลังงานในอาคาร
นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนานยาง ประเทศสิงคโปร์ ได้พัฒนา "Smart Windows" หรือหน้าต่างอัจฉริยะ ที่สามารถป้องกันแสงแดด และช่วยลดการใช้งานเครื่องปรับอากาศ รักษ์โลกรักษ์สิ่งแวดล้อมไปในตัว
แต่สิ่งที่ทำให้หน้าต่างอัจฉริยะนี้แตกต่างไปจากหน้าต่างทั่ว ๆ ไป คือมันไม่ได้มีแค่ชั้นกระจกเพียงอย่างเดียว แต่ระหว่างแผ่นกระจกยังมีของเหลวที่ประกอบด้วยสารไฮโดรเจล ซึ่งสามารถดูดซับพลังงานแสงอาทิตย์ได้ นอกจากนี้เมื่อไฮโดรเจลทำปฏิกิริยากับความร้อนจากแสงอาทิตย์ จะเปลี่ยนสถานะเป็นเป็นของเหลวกึ่งแข็งและมีความขุ่นเพิ่มขึ้น เป็นการบล็อกแสงและความร้อนไปพร้อม ๆ กัน
ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้น ตกกลางคืนเมื่ออากาศหนาวเย็น ไฮโดรเจลในหน้าต่างอัจฉริยะจะคายพลังงานความร้อนออกมา ช่วยให้ห้องอุ่นขึ้นโดยไม่ต้องพึ่งพาฮีตเตอร์ เพราะฉะนั้น มันจึงทำงานได้ทั้งการดูดซับความร้อนในตอนกลางวัน และคายความร้อนในตอนกลางคืน จากการทดลองใช้งานในชีวิตประจำวัน หน้าต่างอัจฉริยะสามารถลดการใช้พลังงานภายในอาคารได้มากถึง 45% (เย็นขึ้นโดยไม่ต้องเปิดแอร์ และอุ่นขึ้นโดยไม่ต้องเปิดฮีตเตอร์)
ที่มาของภาพ https://newatlas.com/good-thinking/liquid-filled-window/
แต่สิ่งที่อาจจะไม่ตอบโจทย์การใช้งานในตอนนี้ คือความขุ่นของกระจกหลังโดนแสงอาทิตย์ ยิ่งความเข้มแสงมาก กระจกจะยิ่งขุ่นมากขึ้น แล้วผู้คนในอาคารจะยอมถูกบดบังวิสัยทัศน์ แลกกับการประหยัดพลลังานขึ้นด้วยหรือเปล่า ?
ขอขอบคุณข้อมูลจาก Interesting Engineering