"บิ๊กตู่"ถกเอกชนวันนี้ ระดมสมองเร่งกระจายวัคซีนสกัดโควิด
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในวันนี้ ( 28 เม.ย.) ภาคเอกชนจะประชุมร่วมกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนรี หารือรายละเอียดแนวทางจัดหาและกระจายวัคซีนของภาคเอกชน พร้อมจัดตั้งทีมงาน 4 ทีม เพื่อสนับสนุนการฉีดวัคซีน โดยการจัดซื้อวัคซีนทางเลือกจากการหารือกับซีอีโอ 45 บริษัท ได้ยืนยันว่าจะออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด เพื่อฉีดให้พนักงานและครอบครัว ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วน แต่ขณะนี้ไม่มีใครรู้ได้ว่าจะหาได้เมื่อไร จำนวนเท่าใด เพราะอยู่ในระหว่างการดำเนินการ จัดหาวัคซีนยี่ห้อตามที่ได้มองไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งเศรษฐกิจดีหรือไม่ดีก็ขึ้นอยู่กับวัคซีน
" การฉีดวัคซีนของไทยยังล่าช้ามาก ต้องเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด ซึ่งวัคซีนทางเลือกก็ต้องมีขั้นตอนต่างๆก่อนที่จะนำเข้ามาฉีด โดยเฉพาะการขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ดังนั้นคงต้องหารือกับทางรัฐบาลในรายละเอียดต่างๆ โดยที่ผ่านมาได้หารือแนวทางการจัดหาวัคซีนและกระจายวัคซีนเป็นหลักส่วนเรื่อง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำยังไม่ได้พูดถึง"
นอกจากนี้เอกชนก็ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดโควิดอย่างเต็มที่ โดยล่าสุดกรุงเทพมหานครได้ออกประกาศปิดสถานที่หลายแห่งแล้ว ซึ่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจน่าจะน้อยกว่าครั้งที่ผ่านมา เพราะการล็อกดาวน์ก่อนหน้ากระทบเศรษฐกิจถึง 6 แสนล้านบาทเนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดหมด
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ข้อเสนอสถานที่ที่จะเป็นจุดกระจายวัคซีนประกอบด้วย 1.นิคมอุตสาหกรรมทั้งประเทศที่มีประมาณ 59 แห่ง เป็นจุดกระจายฉีดวัคซีนให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่ในนิคมฯที่มีเป็นจำนวนมาก 2.กลุ่มธุรกิจคลินิกเสริมความงามกว่า 50 บริษัท ที่มีสาขาทั่วประเทศ 3.สถานีบริการน้ำมันของบางจากที่มีทั่วประเทศกว่า 1,200 แห่ง และ4. สภาอุตสาหกรรมจังหวัดให้โรงงานที่เป็นสมาชิกในแต่ละจังหวัดเป็นสถานที่ฉีดวัคซีน ซึ่งโรงงานล้วนมีบุคลากรด้านพยาบาลที่เตรียมรับมืออุบัติเหตุอยู่แล้วที่จะเข้ามาร่วมช่วยฉีดวัคซีนได้
นอกจากนี้ ส.อ.ท. จะร่วมมือกับกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ สนับสนุนเครื่องมือที่ใช้ในการฉีดวัคซีน เช่น กระบอก และเข็มฉีดยา ชุดพีพีอี ตู้เก็บวัคซีน และอุปกรณ์อื่น ๆ รวมทั้งการจัดทำแพลตฟอร์มวัคซีนพาสปอร์ตเพื่อใช้สำหรับการเดินทางทั้งในและต่างประเทศ เพราะการระบาดโควิดรอบใหม่มีแนวโน้มการติดเชื้อที่มากกว่าทุกรอบหากยืดเยื้อจะกระทบต่อเศรษฐกิจโดยประเมินมูลค่าเสียหายเดือนละประมาณ 1 แสนล้านบาท ดังนั้นหากรัฐสามารถฉีดวัคซีนได้ราว 20-30 ล้านโดสภายในมิ.ย.นี้ก็จะลดความเสียหายต่อเศรษฐกิจ