พิษโควิด! ติวเตอร์ตกงาน ขังตัวเองกับหมา-แมว กว่า 40 ตัว
วันที่ 29 กรกฎาคม 2563 ที่ ม.2 ต.บ้านตูล อ.ชะอวดจ.นครศรีธรรมราช นางปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี พร้อมกับเจ้าหน้าที่เดินทางลงพื้นที่ อ.ชะอวด หลังได้รับการร้องเรียนจาก นางพิม(นามสมมุติ)ว่าบุตรสาวคือ น.ส.พร อายุ 35 ปี(นามสมมุติ)ซึ่งได้ตกงานจากพิษโควิด-19 และได้กลับมาอยู่บ้านพร้อมกับนำแมว 30 ตัวลงมาอยู่ด้วย
โดยบุตรสาวนั้นเป็นเด็กเรียนเก่งเรียนจบจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีลาดกระบังและทำงานเป็นติวเตอร์และขายดอกไม้ออนไลน์ อยู่กรุงเทพกว่า 10 ปีแล้ว
และเมื่อช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา จากสถานการณ์โรคโควิด-19 บุตรสาวไม่มีงานทำไม่มีรายได้จึงเดินทางกลับมาอยู่บ้าน โดยตนมีลูกคนเดียวเท่านั้นบุตรสาวจ้างรถขนแมวพันธ์เปอร์เซียกว่า 30 ตัวลงมาด้วยโดยทิ้งทรัพย์สินอื่นๆไว้ที่ กทม.เพราะไม่สามารถขนลงมาได้หมดเนื่องจากค่าใช้จ่ายในการขนส่งแพงแต่ แมวที่เป็นสัตว์เลี้ยงได้มีการจ้างรถขนลงมา เมื่อมาอยู่บ้านซึ่งเป็นบ้านชั้นเดียวหลังเล็กๆก็นำแมวทั้ง 30 กว่าตัวเลี้ยงไว้ในบ้านและปิดหน้าต่างปิดประตูหมดโดยบุตรสาวนอนรวมกับแมวที่เลี้ยงในขณะที่ด้านนอกก็มีสุนัขพันธ์เล็กชิสุประมาณ 6 ตัว ตนต้องออกมานอนด้านนอกเพราะไม่สามารถนอนในบ้านได้เนื่องจากความเหม็นของแมวที่อุจจาระและปัสสาวะอยู่ในบ้านไม่มีอากาศถ่ายเท และที่สำคัญแมวกำลังจะอดตายเพราะไม่มีรายได้ซื้ออาหารมาให้กิน ตนเองไม่สามารถเข้าบ้านได้และมีปัญหากับบุตรสาวมาโดยตลอด
นางพิม กล่าวอีกว่าเป็นห่วงบุตรสาวที่ชอบเก็บตัวอยู่ในบ้านกับแมวที่มีกลิ่นเหม็นเน่าจากอุจจาระและปัสสาวะเกรงลูกจะเครียดและคิดสั้นจากปัญหาการตกงานและการตั้งความหวังในชีวิตแต่ไม่สมหวัง จึงได้ประสานมูลนิธิปวีณาฯให้มาช่วยพาบุตรสาวไปรักษาและและช่วยเหลือแมวทั้ง 30 กว่าตัวด้วย
ผู้สื่อข่าวระบุว่าเมื่อคณะของมูลนิธิปวีณามาถึงได้มีการเข้าไปเจรจากับ น.ส.พร แต่ปรากฏว่า น.ส.พร ไม่ยินยอมให้เอาแมวไปและไม่พอใจที่มูลนิธิและคณะเดินทางมาพร้อมกับระบุ ตนเองยังสามารถดูแลแมวได้และที่สำคัญตนรักแมวทั้งหมดมาก ตนคิดจะทำคอกและล้างในบ้านแต่ยังไม่ว่างที่จะทำโดย น.ส.พรแสดงความไม่พอใจนางพิม ผู้เป็นแม่ที่ประสานมูลนิธิไปโดยได้มีการเจรจาเกลี้ยกล่อมกันพักใหญ่ ทาง น.ส.พร จึงยินยอมให้ทางสัตว์แพทย์เข้ามาดูแลในการทำวัคซีนและทำหมันแมวโดย น.ส.พร ระบุว่าหากสถานการณ์เศรษฐกิจดีขึ้นก็จะขนแมวทั้งหมดกลับไปเลี้ยงที่กรุงเทพ
ด้าน นางปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิฯกล่าวว่า เคสนี้ถือว่าน่าเป็นหว่งมากเป็นปัญหาเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด-19 ที่คนตกงานและมีความเครียดโดยไม่รู้ตัวหรือกลายเป็นผู้ป่วยซึมเศร้าโดยไม่รู้ตัวตนได้ประสานทั้งทางอำเภอและปศุสัตว์จังหวัดผู้ใหญ่บ้านที่สนิทกับเด็กให้เข้ามาช่วยเจรจา โดยต้องช่วยแมว ก่อนให้เค้าวางใจว่าเราต้องการช่วยจริงๆและขั้นตอนต่อไปก็ค่อยนำตัวเค้าไปรักษา ซึ่งตอนนี้ก็มีปศุสัตว์พัฒนาสังคมเข้ามาช่วยดูแลซึ่งก็คงต้องช่วยกันต่อไป เพราะปัญหาลักษณะนี้มีมากในปัจจุบัน
เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE