รีเซต

กสิกรไทยปรับลดจีดีพีเหลือ2.6% ครี่งแรกปี68หุ้นไทยดีด1450จุด

กสิกรไทยปรับลดจีดีพีเหลือ2.6% ครี่งแรกปี68หุ้นไทยดีด1450จุด
ทันหุ้น
21 มิถุนายน 2567 ( 15:23 )
40

#ศูนย์วิจัยกสิกรไทย #ทันหุ้น – ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567โตเพียง 2.6%จากเดิมที่ 2.8% รวมถึงภาครส่งออก ที่คาดว่าโตเพียง  1.5% พร้อมมอง กนง. คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม 2.50% ตลอดปีนี้ ขณะที่ฝ่ายวิเคราะห์ บล.กสิกรไทย คาดดัชนีตลาดหุ้นช่วงครึ่งหลังของปี 2567 – ครึ่งแรกปี 2568 เคลื่อนไหวในกรอบ 1,280 – 1,450 จุด โดยตั้งแต่ช่วง 2 ไตรมาสแรกของปี 2568 ดัชนีหุ้นไทยมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวขึ้นได้ราว 11 -12%


นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 (2H67) ว่า มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นได้ดีกว่าช่วงครึ่งแรกของปี (1H67) ที่ผ่านมา หนุนจากความสามารถในการเร่งเบิกจ่ายเม็ดเงินงบประมาณประจำปี 2567 ให้ได้ถึงราว 60% ของวงเงินฯ, การเร่งเบิกจ่ายของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงการส่งออกที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดีขึ้น สอดคล้องกับความต้องการเร่งสต๊อกสินค้าของคู่ค้าต่างประเทศ


*ครึ่งหลังศก.ขยายตัวดี

“ช่วงครึ่งแรกของปี 2567 อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพียง 1.6% แต่คาดว่าช่วงครึ่งหลังของปี 2567 จะขยายตัวได้ถึง 3.6% หนุนจากการเร่งเบิกจ่ายเงินงบประมาณภาครัฐ - รัฐวิสาหกิจที่เริ่มเร่งตัวขึ้น การส่งออกที่จะขยายตัวเป็นบวกมากขึ้นจากปัจจัยฐานต่ำในปี 2566”


อย่างไรก็ตาม ประเด็นความเสี่ยงจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ส่งผลให้มีการระบายสินค้าจากกำลังการผลิตส่วนเกินจากจีนมายังตลาดโลกรวมถึงไทย ในขณะที่ปัญหาเชิงโครงสร้างและความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงมีผลให้ส่งออกไทยฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาดการณ์ 


โดยสรุปภาพรวมทั้งปี 2567 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 เติบโตเพียง 2.6% จากเดิมที่ 2.8% รวมถึงปรับลดประมาณการการส่งออกโต 1.5% จากเดิมที่ 2%แต่ปรับเพิ่มประมาณการการบริโภคภาคเอกชนเติบโตขึ้นมาที่ 2.9% จากเดิม 2.6% ,การบริโภคภาครัฐเติบโต 1.3% จากเดิมที่ 2.0%


พร้อมกันนี้ คาดการณ์คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.5% ตลอดทั้งปี 2567ขณะที่ค่าเงินบาทจะมีความผันผวนในทางอ่อนค่าด้วยปัจจัยกดดันจากค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (FED) ส่งสัญญาณชะลอการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้ (Higher for Longer) แต่ก็ยังต้องติดตามใกล้ชิดโดยเฉพาะผลของสงครามการค้า หากส่งผลกระทบที่รุนแรงก็มีรูมที่จะปรับลดดอกเบี้ยเพื่อพยุงเศรษฐกิจได้


นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า แม้ที่ผ่านมา เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะให้ภาพแรงส่งของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่แข็งแรงกว่าคาด จนตลาดปรับการคาดการณ์ว่าเฟดจะยังไม่ลดอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆนี้ หรือ Higher for Longer นั้น แต่มีประเด็นที่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นมากในระยะหลัง 


ได้แก่ นโยบายภาษีของสหรัฐฯ และยุโรปที่กีดกันอุตสาหกรรม Cleantech ของจีนได้แก่ รถยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ และแผงโซลาร์ ซึ่งมองว่าจะส่งผลให้เกิดการย้ายฐานการผลิตในภูมิภาคยุโรป อาเซียน และอเมริกาใต้ 


ขณะที่หากโดนัลด์ ทรัมป์ กลับมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯอีกครั้ง กลยุทธ์ของจีนในการกระจายความเสี่ยงทางการค้า อย่างเช่น China+1 ที่ขยายฐานการผลิตออกจากจีนไปยังประเทศอื่นๆ เพื่อเลี่ยงกำแพงภาษีทางการค้า ก็มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบ ดังนั้นไทยต้องจับกระแสประเด็นการเปลี่ยนแปลงนี้ เพื่อภาคอุตสาหกรรมไทยปรับทิศทางได้ทัน


*มองแนวรับ 1280 จุดแข็งแกร่ง

นายสรพล วีระเมธีกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าทีมกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ฝ่ายวิเคราะห์ประเมินทิศทางความเคลื่อนไหวดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ช่วงครึ่งหลังของปี 2567 (2H67) มีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวนขาขึ้น โดยมีแนวรับที่ 1,280 จุด หนุนจาก 


  1. การลงทุนภาครัฐบาลที่เริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศสามารถขยายตัวได้ดีกว่าช่วงครึ่งแรกของปี 2567 (1H67) ที่ผ่านมา
  2. ความไม่แน่นอนด้านการเมืองในประเทศก็จะเริ่มคลี่คลายลง รวมถึงอัตรา “กำไรต่อหุ้น” (Earnings Per Share : EPS) เทียบกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว (Earning Yield Gap) มีสัดส่วนใกล้เคียงกัน 
  3. ตลาดหลักทรัพย์จะเริ่มใช้ Uptick ซึ่งจะชะลอการขายชอร์ต (Short Sell) ลดความผันผวนของดัชนีฯ
  4. .การเริ่มลงทุนของกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long – Term Equity Fund : LTF) เบื้องต้นคาดการณ์ดัชนีตลาดหุ้นไทย มีแนวโน้มเร่งตัวแตะระดับสูงสุดที่ 1,450จุดในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 (1H68)

พร้อมกันนี้แนะนำนักลงทุนเลือกลงทุนในหุ้นกลุ่มที่ได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจ – การค้าโลกที่ยังมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง อาทิกลุ่มส่งออกอาหาร อาทิ TU ราคาเหมาะสม 16.90 บาท, อาหารสัตว์ อาทิ AAI ราคาเหมาะสม 6.30 บาท, กลุ่มการแพทย์ อาทิ BDMS ราคาเหมาะสม 33.10 บาท, กลุ่มที่ลงทุนธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์, รวมถึงกลุ่มหุ้นที่มีรายได้จากต่างประเทศ อาทิ โรงกลั่น เช่น TOP SPRC และกลุ่มเรือ เช่น PSL เป็นต้น

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง