ดีอีเตรียมเพิ่มโทษขายข้อมูลส่วนบุคคลให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ - ติดคุกสูงสุด 11 ปี
วันนี้ ( 15 ก.พ. 67 )นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ร่วมกับตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แถลงขยายผลการตรวจสอบคดีผู้กระทำผิดในการซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคลโดยมิชอบ พบผู้กระทำผิดเป็นหัวหน้าฝ่ายสินเชื่อสถาบันการเงินเอกชนแห่งหนึ่ง ลักลอบนำข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าไปจำหน่าย ครั้งละ 3,000 - 5,000 รายชื่อ ในราคารายชื่อละ 1 บาท ให้กลุ่มที่สนใจ เช่น ตัวแทนสินเชื่อ, ตัวแทนประกัน ซึ่งบางกรณีตกไปอยูในมือของCall Center ทำให้มีรายได้หลายหมื่นบาทต่อเดือน พบทำมานานเกือบ 2 ปี
พลตำรวจโท วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ระบุว่า ที่ผ่านมาได้มีการจับกุมผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องกับการขายข้อมูลส่วนบุคคล มาแล้ว 7 ครั้ง จับกุมผู้ต้องหามาแล้ว 9 คน มีทั้งการนำข้อมูลลูกค้าจากบริษัทประกันและข้อมูลส่วนบุคคลที่ได้จากเว็บพนันออนไลน์มาขายเป็นรายได้เสริม ซึ่งล้วนแต่มีความเกี่ยวพันกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่นำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้หลอกลวงประชาชน
ด้านพ.ต.อ.สุรพงศ์ เปล่งขำ ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบและกำกับดูแล คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เปิดเผยว่า สถิตินับตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 จนถึงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา ศูนย์เฝ้าระวังการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล หรื อ PDPC Eagle Eye ได้ตรวจพบการเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลประชาชน บนเว็บไซต์ของหน่วยงานต่าง ๆ อย่างเกินความจำเป็นหรือไม่มีการรักษาความมั่นคงปลอดภัยที่เหมาะสม จำนวน 5,869 หน่วย จากการตรวจสอบทั้งหมดกว่า 2 หมื่นหน่วยงาน ซึ่งพบว่าในนั้นมีร้อยละ 90 ที่เป็นหน่วยงานราชการ จึงได้มีการเตือนและแก้ไขแล้ว มีการตรวจพบการประกาศซื้อ ขายข้อมูลส่วนบุคคลผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์และได้มีการปิดกั้นแล้ว จำนวน 54 เรื่อง อีกทั้งในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา มีกรณีที่ศาลได้พิพากษาลงโทษจำคุกผู้กระทำความผิด 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา
ทั้งนี้คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล อยู่ระหว่างร่างกฎหมายเพื่อเพิ่มโทษการซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคล จากจำคุกไม่เกิน 2 ปี เป็นจำคุกไม่เกิน 5 ปี และหากมีการขายข้อมูลส่วนบุคคล ให้กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ก็จะถือเป็นความผิดต่อความมั่นคง เพิ่มโทษจำคุกสูงสุด 11 ปี
ภาพจาก: AFP