รีเซต

อนามัยโพลชี้คนไทย 97% สวมหน้ากากในที่สาธารณะตลอดเวลา

อนามัยโพลชี้คนไทย 97% สวมหน้ากากในที่สาธารณะตลอดเวลา
มติชน
7 มีนาคม 2565 ( 16:11 )
66
อนามัยโพลชี้คนไทย 97% สวมหน้ากากในที่สาธารณะตลอดเวลา

ข่าววันนี้ (7 มีนาคม 2565) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า จากผลสำรวจอนามัยโพลเกี่ยวกับพฤติกรรมการสวมหน้ากากในที่สาธารณะ พบว่า ประชาชนสวมหน้ากากตลอดเวลา ร้อยละ 97 สวมบางครั้งและไม่สวมเลย ร้อยละ 3 จึงขอความร่วมมือประชาชนสวมหน้ากากป้องกันตนเองตลอดเวลา และต้องสวมให้ถูกวิธี ที่สำคัญ ไม่ควรฉีดแอลกอฮออล์ลงในหน้ากากอนามัย เพื่อฆ่าเชื้อโรค

 

 

“โดยผลการศึกษาของจากองค์การวิจัยวิทยาศาสตร์ และอุตสาหกรรมแห่งเครือจักรภพ (CSIRO) ระบุว่า การฉีดพ่นหน้ากากอนามัยด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อที่มีแอลกอฮอล์ เป็นสิ่งประกอบ เสี่ยงต่อการลดประสิทธิภาพของหน้ากากอนามัยลง เพราะด้านหน้าของหน้ากากอนามัยมีการ เคลือบสารกันน้ำไว้ เมื่อฉีดแอลกอฮอล์ใส่หน้ากากอนามัย จะทำให้คุณสมบัติของสารกันน้ำเสื่อมประสิทธิภาพ เกิดการรั่วซึม และไม่สามารถป้องกันเชื้อโรคได้ ดังนั้น หน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว หรือมีรอยเปื้อน เปียก ฉีกขาด ให้ทิ้ง และเปลี่ยนใหม่ทันที” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

 

อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การเพิ่มความมั่นใจของชั้นกรองหน้ากากให้มีประสิทธิภาพสูง เมื่อต้องอยู่ในสถานที่แออัด หรือพื้นที่ที่ระบายอากาศไม่ดีเป็นระยะเวลานาน เช่น ในรถตู้โดยสาร หรือต้องสัมผัสใกล้ชิดกับผู้มีความเสี่ยงสูง แนะนำให้สวมหน้ากากผ้าทับหน้ากากอนามัยได้ แต่ขอเน้นย้ำต้องสวมให้ถูกวิธี และถูกประเภทของชนิดหน้ากาก คือ สวมหน้ากากอนามัยก่อนแล้วทับด้วยหน้ากากผ้า ซึ่งจะเพิ่มความกระชับ และความสามารถในการกรองมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งตรวจสอบว่า หายใจได้สะดวกหรือไม่

 

“นอกจากนี้ การสวมหน้ากากแบบผิดประเภท เช่น สวมหน้ากากอนามัยซ้อนกัน 2 ชิ้น สวมหน้ากาก N95 ก่อนแล้วทับด้วยหน้ากากอื่น หรือสวมหน้ากากผ้าก่อนแล้วทับด้วยหน้ากากอนามัย นอกจากจะไม่ช่วยเรื่องประสิทธิภาพการป้องกันแล้ว ยังส่งผลให้ผู้สวมอึดอัด หายใจไม่ออก และอาจเป็นลมได้ ส่วนกลุ่มที่ไม่ควรสวมหน้ากาก คือ กลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี เพราะเด็กอาจช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ กรณีที่เด็กหายใจไม่ออกจากการสวมหน้ากาก ทั้งนี้ แม้ว่าการสวมหน้ากากที่ถูกต้อง และถูกวิธี จะช่วยป้องกันการแพร่เชื้อโควิด-19 ได้ แต่การปฏิบัติ ตามหลัก UP (Universal Prevention) อย่างเคร่งครัดควบคู่กันไป ทั้งการเว้นระยะห่างอย่างน้อย 1–2 เมตร หลีกเลี่ยงการเข้าไปยังสถานที่แออัด หรือมีการระบายอากาศไม่ดี งดใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกัน รวมถึงหมั่นล้างมือ และตรวจตนเองเบื้องต้นด้วย ATK เมื่อสงสัยว่ามีความเสี่ยง หรือมีอาการ ถือเป็นพฤติกรรมที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 ให้มากขึ้นด้วย” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง