นิ้วหัวแม่มือพิมพ์ 3 มิติ ควบคุมด้วยนิ้วเท้า จับวัตถุได้เหมือนนิ้วจริง
ใครที่ฝันอยากจะมีสักสิบมือจะได้ถือของได้เยอะ ๆ อาจจะใกล้ฝันเป็นจริง เมื่อนักวิจัยในประเทศอังกฤษ ทดลองออกแบบชิ้นส่วนร่างกายที่ใช้กลไกหุ่นยนต์ควบคุม ลักษณะเป็น “นิ้วมือเสริม” ที่เอาไว้สวมใส่กับมือของเรา เพื่อเพิ่มความสามารถในการหยิบจับสิ่งของและทำงานได้ถนัดยิ่งขึ้น
โดยเหตุผลที่ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (University of Cambridge) เลือกพัฒนาเป็น “นิ้วหัวแม่มือ” เนื่องจากมองว่าเป็นนิ้วสำคัญที่ใช้ประโยชน์ในการหยิบจับ ถือสิ่งของได้หลายอย่าง เช่น เอาไว้เกากีตาร์แบบถนัด ๆ หรือช่วยพนักงานเสิร์ฟถือแก้วได้หลาย ๆ ใบ
ตัวนิ้วมือพิเศษนี้ ใช้การพิมพ์สามมิติ ออกมาเป็นนิ้วมือเสริมที่สามารถสวมใส่กับมือจริงของเราได้ ในลักษณะการคาดสายรัด ซึ่งจะพาดบริเวณระหว่างข้อมือไปนิ้วโป้ง และระหว่างนิ้วโป้งไปนิ้วชี้ ทำให้ตัวนิ้วมือเสริมเมื่อใส่แล้วจะอยู่ถัดไปจากนิ้วก้อย ตรงข้ามกับนิ้วหัวแม่มือจริงของเรา
สำหรับการทำงานของ ตัวนิ้วมือเสริม จะมีมอเตอร์ที่เชื่อมต่อกับแบตเตอรี่และไมโครคอนโทรลเลอร์ หรือตัวควบคุมขนาดเล็กที่คาดอยู่ตรงข้อมือ และเชื่อมต่อแบบไร้สายกับตัวควบคุมอีกตัวที่อยู่บนรองเท้าหรือข้อเท้าของผู้สวมใส่ ซึ่งเชื่อมต่อกับเซ็นเซอร์วัดแรงกดใต้นิ้วหัวแม่เท้าทั้งสองข้าง ดังนั้น เมื่อเราออกแรงกดบนตัวเซนเซอร์ที่อยู่ใต้นิ้วหัวแม่เท้า ก็จะเป็นการส่งแรงกดไปควบคุมนิ้วมือเสริมด้านบน สามารถสั่งให้มันหนีบหรือคลายออก ตามลักษณะการเคลื่อนไหวของนิ้วมือจริง ๆ ได้เช่นกัน
ทีมวิจัยยังได้นำนิ้วมือเสริมนี้ ไปทดลองใช้กับอาสาสมัครชายและหญิงจำนวน 600 คน พบว่าอาสาสมัครร้อยละ 98 สามารถใช้งานนิ้วมือเสริมได้ภายในนาทีแรก โดยสามารถเคลื่อนย้ายสิ่งของไปรอบๆ ตามคำสั่งได้ แต่ปัจจุบัน ตัวอุปกรณ์นิ้วมือเสริม ยังเป็นแค่โครงการพัฒนาเพื่อศึกษาวิจัยความสัมพันธ์ระหว่างการทำงานของร่างกายของเรา กับเทคโนโลยีเสริมและอวัยวะเทียม ที่ช่วยให้เราเข้าใจการตอบสนองของมนุษย์ต่ออวัยวะเทียใได้ดีขึ้น และอาจจะต่อยอดไปพัฒนาเป็นอวัยวะเทียม เช่น แขน ขา นิ้ว ที่รองรับการทำงานของมนุษย์ได้อย่างสมจริงและมีประสิทธิภาพยิ่งกว่าเดิม
ข้อมูลจาก theguardian, daniclodedesign, dezeen, designboom