รีเซต

กทม. นนทบุรี สมุทรปราการ เริ่มนำสายไฟลงใต้ดินแล้ว 37 ปี เสร็จแล้ว 48.6 กม.

กทม. นนทบุรี สมุทรปราการ เริ่มนำสายไฟลงใต้ดินแล้ว 37 ปี เสร็จแล้ว 48.6 กม.
TNN ช่อง16
25 พฤศจิกายน 2564 ( 17:01 )
329

โครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าลงใต้ดิน ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่รับผิดชอบโครงการโดยไฟฟ้านครหลวง หรือ กฟน. ได้มีแผนดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2527 หรือ 37 ปีที่แล้ว ซึ่งวางแผนดำเนินการ ช่วงริเริ่ม ระหว่างปี 2527-2557 ระยะทาง 88.3 กิโลเมตร ประกอบด้วย โครงการสีลม จิตรลดา ปทุมวัน พญาไท สุขุมวิท พหลโยธิน นนทบุรี พระราม 3 รัชดา-อโศก และรัชดา-พระราม 9

โดยข้อมูลเมื่อปี 2557 หรือครบ 30 ปีของโครงการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินพบว่า กฟน. ดำเนินการแล้วเสร็จ 6 โครงการ 35 กิโลเมตร ได้แก่ สีลม (2.7 กิโลเมตร) ปทุมวัน (6.7 กิโลเมตร) จิตรลดา (6.8 กิโลเมตร) พหลโยธิน (8 กิโลเมตร) พญาไท (3.8 กิโลเมตร) และสุขุมวิท บางส่วน (7 กิโลเมตร) 

ส่วนแผนที่สอง หลังจากริเริ่ม คือแผนตามโครงการรองรับมหานครอาเซียน ระยะทางนำสายไฟฟ้าลงดินรวม 127.3 กิโลเมตร ซึ่งคณะรัฐมนตรีเห็นชอบเมื่อเดือนกันยายน 2558

และเมื่อเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้รับทราบรายงานผลการดำเนินงานนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน ของการไฟฟ้านครหลวง ซึ่งครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ ซึ่งปรับเพิ่มเป็นระยะทางรวม 236.1 กิโลเมตร ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปี 2527-2567 รวม 8 แผน ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ 48.6 กิโลเมตร ประกอบด้วย โครงการถนนสีลม ปทุมวัน และจิตรลดา 16.2 กิโลเมตร

โครงการพหลโยธิน พญาไท และสุขุมวิท 24.4 กิโลเมตร และโครงการปทุมวัน จิตรลดา พญาไท และบางส่วนของโครงการนนทรี 8 กิโลเมตร โดยยังมีแผนงานและโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการอีกรวมระยะทาง 187.5 กิโลเมตร ซึ่งจะครบระยะเวลาภายในปี 2567 นี้

ส่วนการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินในต่างจังหวัด การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ PEA จะเป็นผู้รับผิดชอบโครงการ ซึ่งได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ ปี 2545 โดยจังหวัดตรัง เป็นจังหวัดแรกที่นำร่องเอาสายไฟฟ้าลงใต้ดิน หลังจากนั้น เมืองใหญ่โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยว ก็ทยอยนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน เช่น น่าน ภูเก็ต หาดใหญ่ พัทยา ขอนแก่น นครพนม และเชียงใหม่

และเมื่อปี 2562 การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ได้เริ่มลุยระเบียบนำสายไฟฟ้า สารสื่อสาร ลงใต้ดิน ใน 74 จังหวัด เพื่อสร้างทัศนียภาพที่สวยงาม สร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ลดปัญหาไฟตก ไฟดับจากภัยธรรมชาติ นอกจากนี้ยังมีข้อดี เรื่องการรองรับการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นได้ จากอัตราการใช้ไฟที่เพิ่มขึ้นตามการเติบโตของสังคม


ภาพจาก TNN ONLINE

ข่าวที่เกี่ยวข้อง