รีเซต

รบ.ล้วงเก๊ะดึงเงินกู้ล็อตสุดท้าย 2.3แสนล้านอัดฉีด ศก. ยันกระสุนมีพอ-เมินกู้เพิ่ม

รบ.ล้วงเก๊ะดึงเงินกู้ล็อตสุดท้าย 2.3แสนล้านอัดฉีด ศก. ยันกระสุนมีพอ-เมินกู้เพิ่ม
มติชน
10 พฤษภาคม 2564 ( 11:33 )
45
รบ.ล้วงเก๊ะดึงเงินกู้ล็อตสุดท้าย 2.3แสนล้านอัดฉีด ศก. ยันกระสุนมีพอ-เมินกู้เพิ่ม

ความรุนแรงของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ระลอกใหม่จากคลัสเตอร์ทองหล่อ ได้สร้างสถิติใหม่ให้ประเทศไทย ทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันพุ่งสูง เฉลี่ย 2,000 คน และผู้เสียชีวิต 2 หลักที่เริ่มบ่งชี้วิกฤตสาธารณสุขไทยและเศรษฐกิจไทย

 

 

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดเสียงเรียกร้องการเยียวยาประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มชนชั้นแรงงาน ร้านค้ารายย่อย ให้ช่วยต่อลมหายใจ ผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเร็วที่สุด เพราะรัฐเองเริ่มพยากรณ์ความรุนแรงได้ตั้งแต่ต้นเมษายนแล้ว จากคำเตือนของหมอ

 

 

⦁ตัดสินใจเยียวยาโควิดระลอกใหม่
ล่าสุด เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการสำหรับมาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจ วงเงินประมาณ 2.35 แสนล้านบาท ได้แก่ มาตรการเยียวยาระยะเพิ่มเติม โดยเพิ่มเงินคนละ 1,000 บาท เป็นเวลา 2 สัปดาห์ รวม 2,000 บาท โครงการเราชนะ จำนวน 32.9 ล้านคน และโครงการ ม33 เรารักกัน 9.27 ล้านคน วงเงิน ซึ่งจ่ายในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้ และขยายเวลาการใช้จ่ายของทั้งสองโครงการไปจนถึง 30 มิถุนายน 2564

 

 

มาตรการเยียวยาทางการเงิน โครงการสินเชื่อสู้ภัยโควิด-19 รายละ 10,000 บาท สัญญากู้ไม่เกิน 3 ปี ดอกเบี้ย 0.35% ต่อเดือน ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ยใน 6 เดือนแรก ผ่านธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินมาตรการเริ่มตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม-31 ธันวาคม 2564 ส่วนวงเงินงบประมาณสำหรับกรณีที่มีความเสียหายนั้น ครม. ได้อนุมัติวงเงินชดเชยความเสียหายไว้ 10,000 ล้านบาท จากงบประมาณกลาง ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลัง

 

 

มาตรการพักชำระหนี้สำหรับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ กระทรวงการคลังได้มอบหมายให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ พิจารณาขยายการพักชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ซึ่งมาตรการจะเป็นไปตามความสมัครใจ และจะมีการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการขยายมาตรการพักชำระหนี้ไปสู่ธนาคารพาณิชย์ต่อไป

 

 

 

⦁ตั้งเป้าหมายกระตุ้นใช้จ่ายปลายปี’64
ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น แบ่งเป็น 4 โครงการ ได้แก่ สำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ได้แก่ โครงการเพิ่มกำลังซื้อสำหรับผู้เข้าร่วมโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 13.7 ล้านคน และ โครงการเพิ่มกำลังซื้อสำหรับกลุ่มต้องการความช่วยเหลือพิเศษที่ใช้จ่ายผ่านบัตรประชาชน จำนวน 2.4 ล้านคน โดยเพิ่มวงเงินให้คนละ 200 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 6 เดือน รวม 1,200 บาท ระยะเวลาดำเนินการเริ่มเดือนกรกฎาคม-เดือนธันวาคม 2564

 

 

สำหรับ กลุ่มผู้มีรายได้ปานกลาง ได้แก่ โครงการคนละครึ่งระยะที่ 3 (เฟส 3) กลุ่มเป้าหมาย 31 ล้านคน แบ่งเป็นคนที่ร่วมโครงการเดิม 15 ล้านคน และรับลงทะเบียนใหม่ 16 ล้านคน วงเงินคนละ 3,000 บาท แบ่งเป็นเดือนกรกฎาคม-เดือนกันยายน จำนวน 1,500 บาท และเดือนตุลาคม-เดือนธันวาคม จำนวน 1,500 บาท เงื่อนไขการใช้จ่าย เช่นเดียวกับโครงการคนละครึ่งเดิม คือใช้จ่ายผ่านแอพพ์เป๋าตัง โดยรัฐบาลสมทบให้ครึ่งหนึ่งหรือ 50% วันละไม่เกิน 150 บาท

 

 

สำหรับ กลุ่มผู้มีรายได้หรือกำลังซื้อสูง ได้แก่ โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ เป้าหมายจำนวน 4 ล้านคน ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยหลักการเบื้องต้นจะเปิดให้ผู้สนใจลงทะเบียนผ่าน www.ยิ่งใช้ยิ่งได้.com ก่อน จากนั้นจะต้องเติมเงินของตัวเองเข้าแอพพ์เป๋าตัง เพื่อใช้จ่ายที่ร้านค้าจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่เข้าร่วมโครงการ ยกเว้น สุรา ลอตเตอรี่ บุหรี่ หรือผลิตภัณฑ์เกี่ยวข้องอบายมุข

 

 

โดยทุกการใช้จ่ายจะได้รับเงิน อี-เวาเชอร์คืนกลับเข้าแอพพ์เป๋าตัง 10-15% สูงสุดไม่เกินคนละ 7,000 บาท โดยกำหนดช่วงการใช้จ่าย 1-40,000 บาทแรก ได้รับวงเงินคืนเข้าแอพพ์เป๋าตัง 10% หรือไม่เกิน 4,000 บาท และการใช้จ่ายตั้งแต่ 40,001-60,000 บาทขึ้นไป จะได้รับเงินคืนเพิ่มเป็น 15% หรือเพิ่มได้อีก 3,000 บาท รวมวงเงินที่ได้รับคืน 7,000 บาท

 

 

โดยโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้คาดจะเปิดให้ใช้จ่ายเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2564 และจะทยอยคืนอี-เวาเชอร์ให้ภายใน 1 เดือนถัดไปหลังการใช้จ่ายตั้งแต่เดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2564 ส่วนการใช้อี-เวาเชอร์ ใช้ได้จนถึง 31 ธันวาคม 2564 อย่างไรก็ตาม มีเงื่อนไขว่าจะได้รับอี-เวาเชอร์บนฐานการคืนไม่เกิน 5,000 บาทต่อวัน

 

 

⦁เทหมดหน้าตัก หวังดันจีดีพีมากกว่า1%
สำหรับโครงการทั้งหมดนั้น ใช้งบประมาณรวม 235,880 ล้านบาท ภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก) เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทที่เหลืออยู่ประมาณ 240,000 ล้านบาท แบ่งเป็น โครงการเราชนะ ระยะเพิ่มเติม วงเงิน 67,000 ล้านบาท โครงการ ม33 เรารักกัน ระยะเพิ่มเติม วงเงิน 18,500 ล้านบาท โครงการเพิ่มเงินให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และผู้ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ รวมเป็นเงิน 19,380 ล้านบาท โครงการคนละครึ่ง วงเงิน 93,000 ล้านบาท โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ รวมเป็นเงิน 28,000 ล้านบาท

 

 

นอกจากนี้ มีโครงการลดภาระค่าใช้จ่าย ด้านค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา ในช่วงเดือนพฤษภาคม-เดือนมิถุนายน วงเงินในโครงการ 10,000 ล้านบาท ส่วนการตั้งสำรองชดเชยกรณีความเสียหายจากการปล่อยสินเชื่อของธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. รวมกัน 10,000 ล้านบาท นั้น มาจากงบประมาณกลาง

 

 

การออกมาตรการทั้งหมดนี้ กระทรวงการคลังตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะสามารถเพิ่มเม็ดเงินอัดฉีดในระบบเศรษฐกิจช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ได้มากกว่า 400,000 ล้านบาท จะทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจขยายตัวได้มากกว่า 1% จากที่ประมาณการไว้เมื่อเดือนเมษายนที่ 2.3% ประกอบกับการเร่งรัดการลงทุนของรัฐบาล และการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวจากต่างชาติ จะช่วยพยุงให้การเติบของเศรษฐกิจไทยอยู่ในระดับ 2.8% ได้ตามที่เคยประมาณการครั้งแรกของปี ในเดือนมกราคม

 

 

 

⦁คลังแจงข้อวิจารณ์นักวิชาการ-ภาคธุรกิจ
ขณะที่นักวิชาการประเมินมาตรการครั้งนี้ว่าทั้งช้าและน้อย และภาคเอกชนบางส่วนยังมองว่า การที่เดิมเงินในช่วงไตรมาสที่ 2 ทั้งโครงการเราชนะ 67,000 ล้านบาท และ โครงการ ม33 เรารักกัน 18,500 ล้านบาท รวมเป็น 85,500 ล้านบาท ไม่เพียงพอที่จะชดเชยในส่วนของความเสียหาย จึงอยากให้เร่งออกมาตรการกระตุ้น อาทิ คนละครึ่งเข้ามาเสริมในไตรมาสที่ 2 เช่นเดียวกับกลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบรุนแรงอย่างร้านอาหาร ก็ออกมาคัดค้านกับมาตรการดังกล่าว

 

 

ประเด็นนี้ กระทรวงการคลังไม่รอช้า เร่งชี้แจงทันที ระบุการช่วยเหลือประเมินตามสถานการณ์และใส่เงินตามกรอบเงินกู้ที่เหลืออยู่ ซึ่งการทำมาตรการแบ่งช่วงเวลา เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด ส่วนความเดือดร้อนของธุรกิจร้านอาหารนั้นครอบคลุมแล้ว เพราะมีการใส่เงินเข้าระบบ ออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และขยายเวลาพักชำระหนี้

 

 

⦁ยันหนี้สาธารณะไม่เกินกรอบ
ในส่วนหนี้สาธารณะของไทย ณ สิ้นปีงบประมาณ 2564 จะไม่เกินกรอบตามกำหนดที่ 60% ต่อจีดีพีแน่นอน แม้จะมีการกู้เงินตาม พ.ร.ก.กู้เงินจำนวน 1 ล้านล้านบาท มาใช้เพื่อฟื้นฟูและเยียวยาเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 แต่หนี้สาธารณะจะอยู่ที่ 58% ต่อจีดีพีเท่านั้น ส่วนการพิจารณากู้เงินเพิ่มเติมนั้น กระทรวงการคลังยังไม่มีแนวคิดดังกล่าว เพราะได้ออกแบบมาตรการให้เหมาะสมกับช่วงเวลาและวงเงินที่มีแล้ว

 

 

หากต้องการใช้เงินเพิ่มเติมรัฐบาลยังมีเงินจากงบกลางปี 2564 ในส่วนของเงินสำรองจ่ายเพื่อการฉุกเฉินและจำเป็น วงเงิน 99,000 ล้านบาท โดยมีการเบิกจ่ายไปแล้วประมาณ 500 ล้านบาท หรือ 0.5% และยังมีงบสำหรับบรรเทาโควิด-19 อีก 40,000 ล้านบาท ซึ่งมีการเบิกจ่ายไปแล้ว 3,200 ล้านบาท หรือ 8% จึงยังมีเงินเพียงพอสำหรับนำมาใช้กับการแก้ไขปัญหาโควิด-19 สรุปจึงยังเหลืออัดฉีดได้อีก 135,300 ล้านบาท

 

 

เศรษฐกิจไทยจะทรุดหรือฟื้นสะท้อนความสามารถของรัฐบาล ซึ่งวันนี้ยังคงยืนกรานเงินมีเพียงพอ ส่วนเรื่องกู้เพิ่มยังไม่จำเป็นเช่นกัน !!

ข่าวที่เกี่ยวข้อง