รีเซต

อำเภอพิชัย อุตรดิตถ์ ใช้ศาลาการเปรียญวัดเป็นโรงพยาบาลสนาม หลังผู้ป่วยโควิดพุ่ง

อำเภอพิชัย อุตรดิตถ์ ใช้ศาลาการเปรียญวัดเป็นโรงพยาบาลสนาม หลังผู้ป่วยโควิดพุ่ง
มติชน
25 กรกฎาคม 2564 ( 13:31 )
50
อำเภอพิชัย อุตรดิตถ์ ใช้ศาลาการเปรียญวัดเป็นโรงพยาบาลสนาม หลังผู้ป่วยโควิดพุ่ง

 

เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ที่ศาลาการเปรียญวัดขวางชัยภูมิ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ นายสุรศักดิ์ วงศ์ตั้ง นายอำเภอพิชัย จ.อุตรดิตถ์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ จิตอาสาของ อ.พิชัย ต่างแบ่งหน้าที่ และระดมกำลังเพื่อปรับสถานที่ ใช้ศาลาการเปรียญวัดเป็นโรงพยาบาลสนามขนาด 100 เตียงของ จ.อุตรดิตถ์ โดยเฉพาะตามหลักของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ทั้งความมั่นคงของสถานที่ ความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม พื้นที่เหมาะสม รั้วมิดชิด เพื่อไม่ให้ประชาชนในชุมชนเกิดความวิตกกังวล ไม่มีน้ำเสีย สิ่งปฏิกูลปนเปื้อนออกสู่ชุมชน โดยจะเปิดรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้ ในวันที่ 27 กรกฎาคม นี้

 

 

 

 

 

นายสุรศักดิ์ วงศ์ตั้ง นายอำเภอพิชัย กล่าวว่า การแพร่ระบาดโควิด-19 ของ จ.อุตรดิตถ์ เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยวันละ 60-70 ราย ซึ่งเป็นประชาชนจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด แจ้งความประสงค์เดินทางกลับมารักษาตัวที่ภูมิลำเนาหรือ จ.อุตรดิตถ์ ล่าสุดยอดผู้ติดเชื้อสะสม 950 ราย เสียชีวิต 5 ราย จากจำนวนเตียงทั้งโรงพยาบาลจังหวัด อำเภอ และ โรงพยาบาลสนามที่จัดเตรียมไว้ 500 เตียง ไม่เพียงพอ คณะกรรมการโรคติดต่อ จ.อุตรดิตถ์ จึงขยายการใช้สถานที่เหมาะสมเพื่อจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพิ่มอีก 4 แห่ง จำนวน 500 เตียง โดย 1 ใน 4 คือ การปรับศาลาการเปรียญ วัดขวางชัยภูมิเป็นโรงพยาบาลสนามขนาด 100 เตียง

 

 

นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า ด้วยความเมตตาจากพระครูพิลาสธรรมสาร เจ้าอาวาสวัดขวางชัยภูมิ และประชาชนในพื้นที่ ที่ให้ความอนุเคราะห์ใช้อาคารศาลาการเปรียญ เพื่อใช้เป็นโรงพยาบาลสนามของ อ.พิชัย และทุกหน่วยงานในพื้นที่ต่างระดมทั้งงบประมาณ และสิ่งของต่าง ๆ จัดตั้งโรงพยาบาลสนามที่ศาลาการเปรียญ 2 ชั้นๆ 50 เตียง เพื่อรองรับกรณีพบผู้ติดเชื้อเพิ่มในจังหวัด และประชาชนผู้ติดเชื้อในจังหวัดอื่น ซึ่งไม่มีสถานพยาบาลรักษาเนื่องจากเตียงไม่พอ มีความประสงค์เดินทางกลับมารักษาตัวที่อำเภอพิชัย ในโครงการ “คนอุตรดิตถ์ ไม่ทอดทิ้งกัน”

 

 

 

“โรงพยาบาลสนามภายในวัด แห่งแรกของ จ.อุตรดิตถ์ นอกจากจะเป็นสถานที่รักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 แล้ว นิมนต์คณะสงฆ์จัดทำหลักสูตรปฏิบัติธรรม ฝึกสมาธิให้กับผู้ป่วยผ่านเครื่องขยายเสียง เพื่อลดความเครียด มีพุทธศาสนาที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ พร้อมทำวัตรเช้า-เย็น เพื่อช่วยให้เกิดความผ่อนคลาย และสามารถนำหลักธรรมที่ได้รับไปปรับใช้กับชีวิตหลังจากรักษาหายต่อไป” นายสุรศักดิ์ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง