ไทยมุ่งสู่เทียร์ 1 สถานการณ์ค้ามนุษย์ปี 68
TNN ช่อง16
2 กรกฎาคม 2567 ( 13:27 )
21
นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการฝึกอบรมหลักสูตรการฝึกอบรมเพื่อแต่งตั้งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 โดยมีนางสาวโสภณา บุญ-หลง ผู้อำนวยการสำนักงานเลขานุการศูนย์บัญชาการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เข้าร่วมพิธี ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงานเป็นหน่วยงานสำคัญและเป็นหน่วยงานหลักในการต่อต้านการค้ามนุษย์ ภายใต้ยุทธศาสตร์ 20 ปี ด้านความมั่นคง โดยรับผิดชอบในการป้องกันการค้ามนุษย์ของประเทศไทย ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ได้กำหนดเป็นวาระแห่งชาติในการยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองดูแลและป้องกันไม่ให้แรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวตกเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้หน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงานทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคนำมาตรฐาน การปฏิบัติงาน (SOP) ในการคัดกรองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้านแรงงานและการบังคับใช้แรงงาน และการนำแผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติฯ (NRM) นำไปใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการบังคับใช้แรงงานหรือบริการและการค้ามนุษย์ ด้านแรงงาน / ซึ่งการปฏิบัติงานดังกล่าว มีความจำเป็นที่จะต้องมีการเพิ่มศักยภาพด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ให้แก่เจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทีมสหวิชาชีพ ให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติงาน และได้รับการแต่งตั้งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์เพื่อให้สามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ที่ผ่านมากระทรวงแรงงาน จัดอบรมพนักงานตรวจจำนวน 322 คน และปีนี้จัดอบรมเพิ่ม 113 รวม รวมปัจจุบันมีจำนวนพนักงานตรวจทั้งสิ้น 435 คน สำหรับผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมาหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงานดำเนินการตรวจคัดกรองเบื้องต้น พบ ผู้ที่อาจเข้าข่ายถูกบังคับใช้แรงงาน 112 ราย จากปฏิบัติการตรวจ 2,122 ครั้ง มีการส่งเสริมสถานประกอบการ 42,480 แห่งให้นำแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (GLP) มาใช้ ยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน 2,445,194 รายทั้งนี้ กระทรวงแรงงานต้องการยกระดับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของประเทศไทย โดยการนำข้อเสนอแนะของสหรัฐอเมริกามาพิจารณาเป็นแนวทางในการทำงาน การพัฒนาเครื่องมือในการทำงาน การพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่สังกัดกระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้องทุกกระบวนการตามหลักสากล ซึ่งจะนำไปสู่การปฏิบัติได้ตามมาตรฐานของสหรัฐอเมริกา และนำไปสู่การได้รับการจัดระดับให้อยู่ใน Tier 1 ต่อไป