รีเซต

‘หมอธีระ’ แนะ 9 ข้อฝ่าวิกฤตโควิดทบทวนเปิดประเทศ-ล็อกดาวน์ 1 เดือน

‘หมอธีระ’ แนะ 9 ข้อฝ่าวิกฤตโควิดทบทวนเปิดประเทศ-ล็อกดาวน์ 1 เดือน
TNN ช่อง16
14 กรกฎาคม 2564 ( 08:45 )
93

วันนี้ ( 14 ก.ค. 64 )รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่าขณะนี้จำนวนการติดเชื้อใหม่รายวัน มีสัดส่วนมาจากทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือมากขึ้นกว่าเดิม หากจำกันได้เคยอยู่ระดับ 20% แต่ปัจจุบันเพิ่มเป็น 35.5% ในขณะที่มาจากทวีปเอเชีย 41% ทวีปอเมริกาใต้ 18% ที่เหลือมาจากแอฟริกาและโอเชียเนีย...หากวันนี้ยอดติดเชื้อใหม่ของไทยยังใกล้เคียงเดิม เราจะมีจำนวนติดเชื้อสะสมแซงโครเอเชียขึ้นเป็นอันดับที่ 59 ของโลกได้ และมีสิทธิจะแซงอุรุกวัยได้ภายในสุดสัปดาห์นี้

 

 

วิเคราะห์กลุ่มประเทศในทวีปเอเชีย 49 ประเทศ จะพบว่าจำนวนติดเชื้อใหม่เมื่อวานนี้ของไทยมากเป็นอันดับที่ 7 จำนวนผู้ป่วยที่กำลังอยู่ในการดูแลรักษาก็มากเป็นอันดับที่ 7 โดยมีมากถึง 95,410 คน 

 

 

ด้วยจำนวนเคสในระบบมีมากขนาดนี้คงต้องระวังเรื่องจำนวนผู้เสียชีวิตรายวันที่จะมากขึ้นกว่าเดิมไปแตะหลักร้อยได้

 

 

ในขณะที่จำนวนผู้ป่วยรุนแรงและวิกฤตินั้น ไทยเป็นอันดับที่ 3 ของเอเชีย โดยมีถึง 3,042 คน เป็นรองเพียงอินเดียและอิหร่าน

 

 

ยุทธศาสตร์ที่รัฐบาล/ศบค.ควรพิจารณาทำคือ

 

 

1. ทบทวนและปรับเปลี่ยนกลไกนโยบายและมาตรการด้านการควบคุมป้องกันโรค รวมถึงวัคซีน ทั้งด้านบริหารและวิชาการ ทั้งที่ปรึกษา คณะกรรมการ และคณะทำงานต่างๆ

2.สร้างนโยบายและมาตรการต่างๆ โดยใช้ Evidence-based policy making อิงข้อมูลความรู้ที่ได้มาตรฐานสากล ตรวจสอบ พิสูจน์ได้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นศรัทธาให้เกิดขึ้นแก่สาธารณชนและเป็นที่ยอมรับของวงวิชาการในสังคม

3.ประกาศเปลี่ยนนโยบายและแผนการจัดซื้อจัดหาวัคซีน 150 ล้านโดส โดยทำทุกทางเพื่อจัดหาวัคซีน mRNA ได้แก่ Pfizer/Biontech และ Moderna มาใช้เป็นวัคซีนหลักของประเทศเพื่อใช้ในการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ประชาชนทุกคนฟรี 

4.จัดหาวัคซีนประเภทอื่นๆ ที่ได้รับการพิสูจน์แล้วมีประสิทธิภาพสูง เช่น Novavax ซึ่งเป็น protein subunit vaccine, วัคซีน Johnson&Johnson ซึ่งเป็น Ad26 vector vaccine และวัคซีน Sinopharm ซึ่งเป็นวัคซีนเชื้อตายที่มีประสิทธิภาพดีเช่นกัน มาใช้เป็นวัคซีนเสริมของประเทศ

5.ปรับการใช้วัคซีน Astrazeneca ไปใช้เป็นวัคซีนเสริม สำหรับกลุ่มอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป 

6. มาตรการเรื่องหยุดการระบาดของโรค จำเป็นต้องวางแผนสำรองไว้ด้วย เพราะ semi-lockdown สองสัปดาห์ที่ทำอยู่นี้อาจได้ผลน้อย และไม่สามารถตัดวงจรการระบาดได้ ดังนั้นมาตรการ Full National Lockdown อย่างน้อย 4 สัปดาห์อาจหลีกเลี่ยงได้ยากหากพิจารณาจากบทเรียนต่างประเทศที่มีลักษณะการระบาดที่คล้ายกับเรา สิ่งที่ต้องพิจารณาให้ดีคือ ยิ่งการระบาดรุนแรงยาวนานไปเรื่อยๆ จะยิ่งใช้เวลาในการควบคุมโรคนานขึ้นเป็นเงาตามตัว การตัดสินใจจึงต้องแข่งกับเวลา

7.ทบทวนนโยบายเปิดเกาะ เปิดประเทศ ท่ามกลางสถานการณ์ระบาดในประเทศที่ยังรุนแรง 

8. พิจารณานโยบายรัดเข็มขัด และรณรงค์การใช้ผลิตภัณฑ์ภายในประเทศ ลดการนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือย

9. สื่อสารสาธารณะโดยเน้นให้ประชาชนตระหนักถึงสถานการณ์ระบาดที่รุนแรงและจำเป็นต้องป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด และอาจต้องหาทางสะกิดพฤติกรรม (Nudge) ประชาชนด้วยกลวิธีต่างๆ เพิ่มเติมในทุกภาคส่วนและกิจการไปจนถึงระดับครัวเรือน อาทิ การทำ Morning question ถามไถ่อาการของทุกคนก่อนทำงานหรือตอนเจอกันทุกเช้า และทบทวนกติกาการทำงานหรือการใช้ชีวิตประจำวันเพื่อป้องกันตัวเองและคนใกล้ชิด ทั้งเรื่องหน้ากาก ล้างมือ ระยะห่างระหว่างกัน การไม่กินข้าวร่วมกัน การไม่ประชุมร่วมกัน และการบอกประวัติพฤติกรรมเสี่ยง เป็นต้น

 

 

ถ้าร่วมแรงร่วมใจ ช่วยกันต่อสู้อย่างเป็นระบบ ใช้ความรู้ที่ถูกต้องเป็นแสงส่องทาง ย่อมมีโอกาสสำเร็จสำหรับประชาชนอย่างพวกเราทุกคน ใส่หน้ากากนะครับ สำคัญมาก สองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้าประเทศไทยต้องทำได้

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง