หมอ ยกเคสผู้สูงอายุติดโควิด-19 ตามคาดหลังสงกรานต์ผู้ป่วยเพิ่มขึ้น!

นพ. มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์ทางด้านโรคระบบทางเดินหายใจ ได้ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับ โควิด 19
โดยระบุว่า ผู้ป่วยชายอายุ 69 ปี มาโรงพยาบาลวันที่ 7 เมษายน 2568 ด้วยไอ ระคายคอ มีน้ำมูกเล็กน้อย 3 วัน ไม่มีไข้ ไม่เคยเป็นโควิดมาก่อน ภรรยาเพิ่งป่วยเป็นโควิด-19 ก่อนหน้านี้ เคยฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา 2 เข็ม โมเดอร์นา 1 เข็ม ไฟเซอร์ 2 เข็ม เป็นโรคไขมันสูง
ตรวจร่างกายไม่มีไข้ ระดับออกซิเจน 98% ฟังปอดปกติ แยงจมูกตรวจ ATK พบโควิด-19
วินิจฉัย : ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อาการไม่รุนแรง เหมือนไข้หวัดเล็ก ให้ยาโมลนูพิราเวียร์กินที่บ้าน 5 วัน หลังกินยาโมลนูพิราเวียร์ คนไข้ดีขึ้นภายในเวลา 3 วัน
ก่อนสงกรานต์ตรวจพบโควิด-19 ประปราย หลังสงกรานต์มีการคาดการณ์ว่าจะพบโรคโควิดระบาดมากขึ้น โดยติดกันในประเทศ เพราะมีการรวมตัวของคนจำนวนมาก มีการรดน้ำดำหัว ขอพรผู้สูงอายุ มีการเล่นน้ำ คนไม่สวมหน้ากากอนามัย และไวรัสโควิด-19 ติดต่อกันได้ง่าย
เป็นจริงดังคาด วันที่ 1-16 เมษายน 2568 ข้อมูลของ รพ.วิชัยยุทธ พบโควิดเพียง 31 ราย เฉลี่ยวันละ 2 ราย หลังสงกรานต์มีการระบาดของโรคโควิด-19 ช่วง 5 วัน ระหว่างวันที่ 17-21 เมษายน ตรวจพบโควิด 37 ราย เฉลี่ยวันละ 7 ราย โชคดีที่คนส่วนใหญ่อาการไม่หนัก
ขอให้ทุกคนระวังตัวเอง ถ้ามีไข้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ ใส่หน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือบ่อยๆ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อให้ผู้อื่น แยงจมูกตัวเองด้วยชุดตรวจว่า ติดเชื้อโควิดหรือไม่ ถ้าตรวจพบโควิด ให้รีบปรึกษาแพทย์
ประเมินระดับอาการเมื่อเป็นโควิด-19
อย่างที่ทราบกันดีว่าผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นหากตรวจพบว่าเป็นโควิด-19 การประเมินอาการตนเองว่าเป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว สีเหลือง สีแดง เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม จะช่วยลดความรุนแรงและงดอัตราการเสียชีวิตที่อาจเกิดขึ้นได้
ประเมินอาการผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว
ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว คือ ผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย ได้แก่
-มีไข้ต่ำ ๆ
-ไอ
-เจ็บคอ
-มีน้ำมูก
-ม่รับกลิ่น ไม่รู้รส
-ตาแดง
-ผื่น
-ถ่ายเหลว
-หายใจปกติ ไม่เหนื่อย
-ไม่มีปอดอักเสบ
ผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง คือ ผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มที่มีอาการไม่รุนแรง ได้แก่
-อ่อนเพลีย
-แน่นหน้าอก
-เหนื่อยหอบ
-หายใจลำบาก หายใจเร็ว
-ไอแล้วเหนื่อย
-เวียนศีรษะ
-อาเจียน
-ปอดอักเสบ
-ถ่ายเหลวไม่ต่ำกว่า 3 ครั้งต่อวัน
-อาการแทรกซ้อนจากความเสี่ยงหรือโรคประจำตัวอย่าง อายุมากกว่า 60 ปี โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคปอดอื่น ๆ โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานที่คุมไม่ได้ ภาวะอ้วนน้ำหนักมากกว่า 90 กิโลกรัม ตับแข็ง และภูมิคุ้มกันต่ำ
-เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล
ผู้ป่วยกลุ่มสีแดง คือ ผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มที่มีอาการหนักและรุนแรง ได้แก่
-หอบเหนื่อยตลอดเวลา
-พูดไม่เป็นประโยค
-หายใจแล้วเจ็บหน้าอก หายใจลำบาก
-แน่นหน้าอกตลอดเวลา
-ซึม ตอบสนองช้า
-ไม่รู้สึกตัว
-ปอดบวม
-ปอดอักเสบรุนแรง
-ออกซิเจนลดลง
-เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด