รีเซต

'ศรีสุวรรณ' ร้อง ปธ.สภาสงสัยการตรวจรายชื่อ ปชช.แก้ รธน.ฉบับไอลอว์ ลั่นหากปลอมแปลงต้องลงโทษ

'ศรีสุวรรณ' ร้อง ปธ.สภาสงสัยการตรวจรายชื่อ ปชช.แก้ รธน.ฉบับไอลอว์ ลั่นหากปลอมแปลงต้องลงโทษ
มติชน
16 พฤศจิกายน 2563 ( 12:09 )
78

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 16 พฤศจิกายน ที่รัฐสภา นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เข้ายื่นหนังสือให้กับนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ผ่านนายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร

 

นายศรีสุวรรณกล่าวว่า ตั้งแต่ที่นายจอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ได้เข้ามายื่นรายชื่อประมาณแสนกว่ารายชื่อเพื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญในฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ตนได้พยายามคิดตามข้อมูลข่าวสารในการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญมาโดยตลอด ตั้งแต่วันที่ 22 ก.ย.ที่ผ่านมา เข้าใจว่าทางนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาได้มีหนังสือหรือกรรมการแต่งตั้งให้มีการตรวจสอบรายชื่อทั้งหนึ่งแสนรายว่าได้ดำเนินการเป็นไปตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมายปี 2556 หรือไม่ อย่างไร แต่ประเด็นปัญหาคือในพระราชบัญญัติการเข้าชื่อฯ กำหนดไว้ชัดเจนว่าจะต้องมีการตรวจสอบว่าผู้ที่เข้าชื่อมีสิทธิในการเลือกตั้งหรือไม่ โดยจะต้องทำหนังสือไปยังผู้เข้าชื่อทั้งหมด เพื่อให้ยืนยันว่าตนเองได้เข้าชื่อกันจริง เพื่อให้ทางรัฐสภามีหลักฐานยืนยันว่ามีการเข้าชื่อครบถ้วนตามที่รัฐธรรมนูญ 2556 อนุมาตรา 3 กำหนดไว้

 

“สิ่งที่ผมสงสัย เนื่องจากผมและเครือข่ายภาคประชาชนได้เคยใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญในการเสนอร่างกฎหมาย ซึ่งเป็นร่างกฎหมายธรรมดา รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ต่ำกว่าหนึ่งหมื่นรายชื่อ เสนอมาหลายร่างแล้ว แต่ทางสำนักเลขาสภาผู้แทนราษฎรได้ดำเนินการเป็นไปตามกฎหมาย แต่ระยะเวลาในการตรวจสอบผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งค่อนข้างจะนาน ส่วนใหญ่แล้วไม่ต่ำกว่า 6 เดือน หรือเป็นปีก็มี กว่าจะตรวจสอบเสร็จว่าผู้ที่เข้าชื่อกันเป็นตัวตนที่แท้จริง

 

“ผมสงสัยว่า กรณีที่คุณจอน อึ้งภากรณ์ ในนามไอลอว์เสนอรายชื่อมาแสนกว่าราย ผลปรากฏว่าทางสำนักเลขาสภาฯได้มีการตรวจสอบรายชื่อมาตั้งแต่ 22 ก.ย.มาจนถึงปัจจุบัน ทำไมรวดเร็วเกินไป มีการทำหนังสือแจ้งไปยังหนึ่งแสนรายชื่อแล้วให้มีการตอบกลับมาทั้งหมดหรือไม่ แล้วทั้งแสนกว่ารายมีหนังสือยืนยันมายังสำนักเลขาสภาฯ ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญกำหนด คือเกินกว่าห้าหมื่นรายหรือไม่” นายศรีสุวรรณกล่าว

 

นายศรีสุวรรณกล่าวต่อว่า นอกจากนั้น ในพ.ร.บ.การเข้าชื่อฯยังกำหนดชัดเจนว่าหากมีการปลอมหรือแอบอ้าง ย่อมมีความผิดตามกฎหมาย ซึ่งโทษค่อนข้างสูงคือจำคุก 1 ปี ปรับ 2 แสนบาท โดยเฉพาะผู้ริเริ่ม จะต้องรับผิดชอบต่อการปลอมแปลงเอกสารเหล่านี้ เพื่อให้การเสนอร่างกฎหมายที่เป็นกฎหมายแม่บทของประเทศเป็นไปด้วยชอบ จึงจำเป็นต้องมาเรียนประธานรัฐสภา ผ่านเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอตรวจสอบเอกสารในเรื่องของการแจ้งและเอกสารยืนยันทั้งหมดว่าถูกต้องตามรัฐธรรมนูญและเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ และที่สำคัญที่ตนสงสัยในกลุ่มของไอลอว์ที่มีการเสนอรายชื่อมาทั้งหมดหนึ่งแสนรายชื่อ แต่ทางเอกสารที่ทางสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้ยืนยันมีทั้งหมด 98,824 ราย 1,000 กว่ารายชื่อหายไปไหน เป็นรายชื่อที่ตกหล่น หรือเป็ยรายชื่อที่ซ้ำซ้อน นี่เป็นข้อสงสัยที่ตนต้องมาเรียนสอบถามกับเลขาฯ สภาผู้แทนราษฎร เพื่ออย่างน้อยหากกฎหมายนี้ถ้าจะผ่านเข้ารัฐสภาจะได้เป็นไปด้วยความชอบด้วยกฎหมาย แต่ถ้ามีการปลอมหรือแอบอ้างขึ้นมาจะได้ลงชื่อตาม พ.ร.บ.การเข้าชื่อฯ ตามมาตราที่ 14 ต่อไป

 

ด้านนายสมบูรณ์กล่าวว่า ได้รับการประสานให้มารับหนังสือจากองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญในการแก้ไขของฉบับไอลอว์มีผู้ริเริ่มมาตั้ง 16 กันยา มีผู้เข้าชื่อแสนกว่าคน ซึ่งสภาตั้งตรวจสอบภายใน 45 วัน ซึ่งตรวจสอบแล้วถูกต้องตามกฎหมาย และ 98,824 คน ผ่านการตรวจสอบของสภาและองค์การปกครอง และให้เวลา 30 วันในการเข้าชื่อคัดค้าน 783 คน มีผู้เข้าชื่อทั้งหมด 90,000 กว่ารายชื่อในการเสนอเข้าชื่อให้กับประธานรัฐสภา ให้มีการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวและคงมีหนังสือตอบกลับนายศรีสุวรรณ ซึ่งช่วงนี้มีการเสนอชื่อกฎหมายภาคประชาชนเข้ามาเยอะ และประธานรัฐสภาได้กำชับว่ากฎหมายภาคประชาชนให้ดูแลเป็นพิเศษ

 

รวมสิทธิส่งเสริมคุณภาพชีวิต เกาะติดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทันเรื่องราวกระแสสังคม

สัมผัสประสบการณ์ข่าวได้ที่ แอปพลิเคชัน ทรูไอดี (ดาวน์โหลดเลยที่นี่!!)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง