รีเซต

"ตลาด EV" ขาขึ้น ยอดขายในไทยพุ่งอันดับ 1 ของอาเซียน!

"ตลาด EV"  ขาขึ้น ยอดขายในไทยพุ่งอันดับ 1 ของอาเซียน!
TNN ช่อง16
7 เมษายน 2566 ( 15:45 )
81

รถยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle) หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า รถ EV กำลังมาแรงอย่างมากตลอดช่วงมอเตอร์โชว์ ซึ่งเป็นผลมาจากความประหยัด เฉลี่ยตกกิโลเมตรละไม่ถึงบาท ท่ามกลางวิกฤตน้ำมันที่แพงขึ้น รวมถึงแบรนด์รถ EV หลายแบรนด์มาตั้งโรงงานในเมืองไทย ทำให้ราคาใหม่ถูกใจลูกค้าที่ต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายและสายรักษ์โลกมากขึ้น

ปัจจุบันการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าจากแบตเตอรีหรือที่เรียกว่า BEV (Battery EV) ในประเทศไทย ถือเป็นอันดับหนึ่งของกลุ่มประเทศอาเซียน โดยหากมีรถ BEV วิ่งอยู่ 100 คัน บนถนนทั้ง 10 ประเทศในอาเซียน “จะมีถึง 60 คัน” ที่วิ่งอยู่ในประเทศไทย 

ดร.ชัยพร เขมะภาตะพันธ์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ (CITE) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) กล่าวถึงเหตุผลที่ทำให้รถ BEV ได้รับความนิยมในประเทศไทยว่า จากการปรับตัวของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น และนโยบายการส่งเสริมของรัฐบาลทำให้คนไทยมีโอกาสเป็นเจ้าของรถไฟฟ้าได้ง่ายขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม พื้นที่ที่เหมาะสมต่อการใช้งานนั้นยังจำกัดอยู่ เนื่องจากสถานีชาร์จยังไม่ครอบคลุมทั้งประเทศ โดยจำนวนสถานีชาร์จไฟฟ้าในช่วงต้นปี 2566  มีประมาณ 1,000 กว่าแห่ง ซึ่งราว ๆ 40% จะตั้งอยู่ในกรุงเทพและปริมณฑล การชาร์จแต่ละครั้งยังคงใช้เวลานาน และต้องต่อคิวรอ

ดร.ชัยพร กล่าวว่า “ถ้าไม่ได้เดินทางไกลหรือใช้งานในเมืองเป็นหลักก็ไม่ค่อยมีปัญหา กลับมาชาร์จที่บ้านด้วย Home Charger ได้ แต่ถ้าออกต่างจังหวัดหรือต้องเดินทางไกล ก็ต้องวางแผนการเดินทางให้ดี แม้รถ BEV ในปัจจุบันจะสามารถเดินทางได้ไกลกว่า 400 ถึง 500 กิโลเมตรต่อการชาร์จเต็ม แต่ก็ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เป็นตัวกำหนดให้ระยะทางสั้นลงได้ การเปิดแอร์ ความเร็วในการขับ และน้ำหนักที่บรรทุก ทำให้ไปได้ไม่ไกลเท่าที่คิด” 

นอกจากนี้ยังมีปัญหาของผู้ใช้งานรถ EV ที่อาจพบเจอได้ เช่น ที่ชาร์จเสีย หรืออาจจะมีคนจอดรถชาร์จอยู่ โดยที่แอปพลิเคชันไม่ได้แจ้งเตือน หัวชาร์จที่ไม่ตรงกับหัวชาร์จของรถ หรือบางครั้งเจอรถที่ชาร์จเต็มแล้วแต่เจ้าของรถไม่อยู่ ก็ต้องรอ รวมทั้งแท่นชาร์จหลายแห่งติดตั้งอยู่กลางแจ้ง ไม่มีหลังคา เหล่านี้คือปัญหาที่จะต้องเจอหากต้องชาร์จรถ EV จากสถานีชาร์จสาธารณะ 

อีกเรื่องที่คนใช้งานรถ EV กังวลก็คือ แบตเตอรี ที่เมื่อเกิดปัญหาอาจมีค่าใช้จ่ายที่แพงอย่างที่เห็นได้ในข่าว ดังนั้นประกันภัยรถ BEV จึงแพงกว่ารถที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปค่อนข้างมาก ดังนั้นเจ้าของรถต้องระวังการขับขี่ที่อาจส่งผลต่อการเสียหายโดยตรงต่อแบตเตอรี ซึ่งส่วนมากติดตั้งอยู่ที่พื้นของห้องโดยสารรถ เช่น การครูดใต้ท้องรถ หรือการเกิดความเสียหายที่ด้านข้างรถอย่างแรง เป็นต้น

อย่างไรก็ดี แรงขับเคลื่อนจากฝั่งผู้บริโภคตามกระแสความกังวลต่อประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมที่เด่นชัดขึ้น บวกกับนโยบายส่งเสริมของภาครัฐ ทำให้ตลาดรถ EV ในไทยเติบโตแบบก้าวกระโดด เทรนด์การใช้งานรถ EV ทุกประเภทในไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ สิ่งสำคัญคือเราจำเป็นต้องมีการพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องรองรับการเติบโต ไม่ว่าจะเป็น โรงงานผู้ผลิต ศูนย์ให้บริการซ่อมบำรุงดูแลรักษาทั้งรถและสถานีชาร์จ 

ดร.ชัยพร ยังกล่าวอีกว่า “ตอนนี้บุคลากรทางด้านรถ EV ในไทยยังมีน้อย ส่วนใหญ่มีความเชี่ยวชาญระบบเครื่องยนต์สันดาปภายใน แต่สำหรับรถ EV มีรูปแบบที่ต่างออกไปค่อนข้างมาก เช่น การดัดแปลงรถยนต์เครื่องสันดาปมาเป็นรถ EV ที่นิยมทำกันมากในต่างประเทศ ไม่ใช่แค่การยกเครื่องยนต์ออกแล้วใส่มอเตอร์ไฟฟ้าเท่านั้น รวมทั้งการที่ไทยเป็นที่ตั้งฐานการผลิตรถ EV ตรงนี้ก็ทำให้มีความต้องการบุคลากรจำนวนมาก ซึ่งภาคการศึกษาต้องเร่งสร้างบุคลากรให้ตอบโจทย์และรองรับเทรนด์นี้ให้ทัน” 


ที่มาข้อมูล : TNN ONLINE

ที่มาภาพ : TNN

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง