“พิชัย”เปิดข้อเสนอไทยยื่น USTR ร่วมมือเอไอ-เพิ่มนำเข้า-คุมแอบอ้าง

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ปาฐกถาพิเศษในงาน "Thailand - US Trade & Investment Summit 2025" ณ โรงแรมไฮแอท รีเจนซี่ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2568 จัดโดยความร่วมมือของหอการค้าไทย หอการค้าอเมริกันในประเทศไทย (AMCHAM) และหอการค้าสหรัฐอเมริกา (U.S. Chamber of Commerce) โดยมีผู้แทนภาครัฐ ภาคเอกชน นักลงทุน และนักธุรกิจจากทั้งสองประเทศเข้าร่วมกว่า 300 คน
นายพิชัย กล่าวว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญต่อความท้าทายจากนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐอเมริกา ที่อาจกระทบต่อภาคการส่งออก ไทยได้มีความพยายามที่จะหารือร่วมกับสหรัฐฯ ในเวทีต่าง ๆ โดยได้จัดตั้ง คณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่เดือนมกราคม 2568 โดยมีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน เพื่อกำหนดแนวทางการหารือกับสหรัฐฯ และประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับภาคเอกชน
ไทยได้ยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อ USTR อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2568 ซึ่งได้รับการตอบรับเชิงบวกจากนาย "สก็อตต์ เบสเซนต์" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ โดยได้เสนอแนวทางสำคัญ เช่น เสริมความร่วมมือในสาขาอาหารแปรรูป ดิจิทัล ดาต้าเซ็นเตอร์ และ AI ขยายการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เช่น พลังงาน สินค้าเกษตร และชิ้นส่วนอากาศยาน เปิดตลาดและลดอุปสรรคทางการค้า แก้ไขมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี ป้องกันการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้า และส่งเสริมการลงทุนของไทยในสหรัฐฯ
ข้อเสนอดังกล่าวได้ถูกหารือเพิ่มเติมกับนาย "จามิสัน กรีเออร์" ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ และนายเบสเซนต์ ระหว่างการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปคที่เกาะเชจู ประเทศเกาหลีใต้ โดยทั้งสองฝ่ายแสดงความพร้อมในการขับเคลื่อนความร่วมมือผ่านการเจรจาระดับนโยบายที่กรุงวอชิงตันในอนาคตอันใกล้
พร้อมกันนี้ เชิญชวนนักลงทุนสหรัฐฯ ขยายการลงทุนในไทย โดยฐานการลงทุนอุสาหกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่ มีศักยภาพด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะพลังงานที่มั่นคง ซึ่งเอื้อต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง อาทิ เซมิคอนดักเตอร์ แผงวงจรพิมพ์ (PCB) ดาต้าเซ็นเตอร์ ชิ้นส่วนสำหรับประกอบ AI และยานยนต์อัจฉริยะ รวมถึงสามารถต่อยอดไปสู่การผลิตอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่รองรับความต้องการของตลาดในอนาคต
รัฐบาลไทยยืนยันความมุ่งมั่นในการทำงานร่วมกับภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างเศรษฐกิจไทยที่เข้มแข็ง และส่งเสริมความร่วมมือกับสหรัฐฯ บนพื้นฐานของความสมดุลและผลประโยชน์ร่วมกัน เพื่อเติบโตไปด้วยกัน พร้อมที่จะเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจกับสหรัฐฯ ที่จะสนับสนุนซึ่งกันและกัน ซึ่งที่ผ่านมา สหรัฐฯ เป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของไทย รองจากจีน โดยในปี 2567 มูลค่าการค้าระหว่างกันสูงกว่า 74,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปสหรัฐฯ คิดเป็น 18% ของการส่งออกทั้งหมด ขยายตัว 13.6% สะท้อนความแข็งแกร่งของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและโอกาสในการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ยังกล่าวด้วยว่า เศรษฐกิจไทยภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดย GDP ไตรมาสแรกของปี 2568 ขยายตัว 3.1% ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่การลงทุนมีมูลค่าคำขอรับส่งเสริมจาก BOI รวม 431,237 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 97% และการส่งออก 3 เดือนแรกของปีนี้ เติบโตโดดเด่นถึง 15.2% และโดยเฉลี่ยตั้งแต่รัฐบาลชุดนี้เข้ารับตำแหน่งในเดือนตุลาคม 2567 การส่งออกไทย 6 เดือน ขยายตัว 12.9% และตัวเลขการส่งออกเดือนเมษายนที่จะแถลงในวันจันทร์ที่ 26 พฤษภาคม 2568 นี้ ยังเติบโตต่อเนื่อง แม้จะมีความกังวลเรื่องมาตรการภาษีของสหรัฐ
สำหรับการท่องเที่ยวยังคงเติบโตได้ดีในแง่ของรายได้ ปัจจุบัน ไทยมุ่งเน้นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ รายได้สูง และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ดี ไทยยังเผชิญกับความท้าทายในเรื่องของหนี้สินครัวเรือนและปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งหากสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ เศรษฐกิจไทยน่าจะเติบโตได้มากกว่าที่คาดการณ์ไว้
ทั้งนี้ภายในงาน Thailand - US Trade & Investment Summit 2025 ยังมี นายโรเบิร์ต เอฟ. โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายชาทิตย์ ห้วยหงษ์ทอง ประธานหอการค้าอเมริกันในประเทศไทย นายจอห์น โกเยอร์ รองประธานฝ่ายเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโอเชียเนียหอการค้าสหรัฐอเมริกา ร่วมด้วย