รีเซต

'องอาจ'แนะไม่ต้องมีประธาน กก.สมานฉันท์ เสนอ 3 ปัจจัยพื้นฐานหาทางออกประเทศ

'องอาจ'แนะไม่ต้องมีประธาน กก.สมานฉันท์ เสนอ 3 ปัจจัยพื้นฐานหาทางออกประเทศ
มติชน
1 พฤศจิกายน 2563 ( 10:28 )
71

‘องอาจ’ ชี้หลายฝ่ายเห็นด้วย หันหน้าพูดคุยกัน แนะ สถาบันพระปกเกล้าเป็นผู้อำนวยความสะดวก โดยไม่ต้องมีประธาน กก.สมานฉันท์ เสนอ 3 ปัจจัยพื้นฐานหาทางออกประเทศ

เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค และประธาน ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) กล่าวถึงการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อหาทางออกให้ประเทศว่า ขณะนี้หลายฝ่ายเริ่มมองเห็นพ้องต้องกันมากขึ้นว่า การมีคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อทำหน้าที่ช่วยกันหาทางออกให้ประเทศ น่าจะเกิดประโยชน์ต่อบ้านเมืองมากกว่าที่จะปล่อยให้สถานการณ์เดินหน้าไปเรื่อยๆ โดยไม่รู้ว่าจะจบอย่างไร เพราะถ้าปล่อยให้ผู้เรียกร้องกับผู้ถูกเรียกร้องยกระดับการดำเนินการไปมากขึ้น จะยิ่งเพิ่มความสุ่มเสี่ยงที่จะนำไปสู่การเผชิญหน้ากันมากยิ่งขึ้น ส่วนโครงสร้าง และรูปแบบของคณะกรรมการจะเป็นแบบไหนก็ได้ที่จะช่วยกันนำไปสู่การพูดคุยกันเพื่อหาทางออกให้ประเทศได้ โดยไม่จำเป็นต้องยึดติดกับคณะกรรมการรูปแบบเดิมๆ ที่เคยจัดตั้งมาในอดีต เพราะสถานการณ์และบริบทของความขัดแย้งในปัจจุบันก็แตกต่างจากในอดีตโดยรูปแบบของคณะกรรมการอาจไม่จำเป็นต้องมีประธานคณะกรรมการแต่อาจจะให้สถาบันพระปกเกล้าเป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุย ระหว่างคู่ขัดแย้งหลักคือผู้เรียกร้องกับผู้ถูกเรียกร้อง โดยคณะกรรมการจากภาคส่วนอื่นๆ อาจเป็นผู้สังเกตการณ์ที่ช่วยทำให้เกิดการยอมรับจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย

นายองอาจ กล่าวต่อว่า สำหรับองค์ประกอบของคณะกรรมการจะเอาแบบที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคปชป.เสนอ 7 ฝ่าย คือ 1. รัฐบาล 2. ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล 3. ส.ส.ฝ่ายค้าน 4. ส.ว. 5. กลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้อง 6. ผู้ไม่เห็นด้วยกับกลุ่มผู้ชุมนุม 7. ผู้ทรงคุณวุฒิอื่นๆ หรือจะออกแบบใหม่ จะเพิ่มจะลดองค์ประกอบของคณะกรรมการอย่างไรให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันก็สามารถทำได้ ซึ่งคณะกรรมการสมานฉันท์ น่าจะขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐาน 3 ประการ ดังนี้ 1. จริงใจในการแสวงหาทางออกให้ประเทศ 2. เปิดใจกว้างพร้อมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง ไม่ควรมีอคติต่อกัน และ3. สร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน โดยหลีกเลี่ยงการโต้วาทีเอาแพ้เอาชนะ แต่ควรเป็นเวทีพูดคุยว่าจะหาทางออกอย่างไร จะอยู่ร่วมกันอย่างไร (Deliberative Dialogue) เชื่อมั่นว่าถ้าเราเห็นพ้องต้องกันที่จะช่วยกันหาทางออกให้ประเทศอย่างแท้จริงบนปัจจัยพื้นฐาน 3 ประการนี้ น่าจะช่วยทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้อย่างแน่นอน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง