รีเซต

สรุปข่าว "สะพานถล่ม" ไขสาเหตุ-เปิดปฏิบัติเก็บกู้-ผู้ว่าฯ ยันไม่เกี่ยวแก้แบบ

สรุปข่าว "สะพานถล่ม" ไขสาเหตุ-เปิดปฏิบัติเก็บกู้-ผู้ว่าฯ ยันไม่เกี่ยวแก้แบบ
TNN ช่อง16
11 กรกฎาคม 2566 ( 22:21 )
116

จากกรณีเกิดเหตุ ‘สะพานลาดกระบังถล่ม’ ที่ถนนหลวงแพ่ง แขวงทับยาว ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้าง "ทางยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง" ส่งผลทำให้สภาพจราจรบริเวณจุดเกิดเหตุติดขัดอย่างหนัก มีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัส จำนวน 3 ราย บาดเจ็บเล็กน้อย 4 ราย และพบผู้เสียชีวิต 2 ราย


"สะพานนี้" น่าห่วง  คำเตือนจาก “ดร.เอ้” 


ศาสตราจารย์สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ “ดร.เอ้” อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีตนายกสภาวิศวกร และอดีตนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย เคยโพสต์เตือนไว้ ตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2565 ระบุว่า จากประสบการณ์ลงพื้นที่ตรวจสอบการวิบัติของการก่อสร้างโครงสะพาน พบอุบัติเหตุส่วนใหญ่มาจาก 4 กรณี คือ 


“นั่งร้านคนงานพัง” เนื่องจากดินอ่อนรับน้ำหนักนั่งร้านไม่ไหว หรือไม่ได้ค้ำยันกับโครงสร้างที่มั่นคง / “ไม้แบบรองรับการเทคอนกรึตเสาและคานพัง” เพราะรับน้ำหนักขณะเทคอนกรีตไม่ได้ หรือ เทผิดจังหวะทำให้ไม้แบบเอียง  “เครนล้ม” เนื่องจากใช้เครนไม่ถูกขนาด เล็กเกินไปที่จะยกโครงสร้างน้ำหนักมาก และ “คานหล่น” ขณะติดตั้ง เนื่องจากหลุดจากเครนยก หรือหล่นขณะวางพาดบนเสา หลายครั้งลงมาใส่รถที่สัญจรอยู่ข้างล่าง ซึ่งกรณีนี้ เกิดขึ้นล่าสุด




สอบปากคำ 7ปาก-ยังไม่ตั้งข้อหา


ความคืบหน้าทางคดี พันตำรวจเอกพรรณลบ สำราญสม ผู้กำกับการ สน.จรเข้น้อย ระบุว่า ได้สอบปากคำพยานไปแล้ว 7 ปาก อยู่ระหว่างรวบรวมหลักฐาน และเตรียมสอบปากคำผู้รับเหมา แต่ต้องรอหลังกู้ซากเสร็จสิ้นก่อนจึงจะพิจารณาแจ้งข้อกล่าวหา


ส่วนความคืบหน้าเคลื่อนย้ายซากสะพานข้ามแยกที่พังถล่ม เจ้าหน้าที่ประเมินว่าคงจะใช้เวลาถึง 7 วันจึงจะแล้วเสร็จ เพราะต้องตัดแยกย่อยชิ้นส่วน และใช้เครนขนาดใหญ่ 200 ตัวเข้ามาขนย้าย อย่างไรก็ตาม สำนักการโยธาจะพยายามเร่งให้เร็วที่สุดภายใน 3 วัน จากนั้นก็จะต้องประเมินความมั่นคงแข็งแรงและความปลอดภัยของโครงสร้างที่เหลืออีกครั้ง ก่อนเปิดให้ประชาชนใช้งานตามปกติ



โครงการก่อสร้าง "ทางยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง" เคยถูกตั้งกระทู้ในสภา กทม.


นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา หรือ ดร.จอห์น ส.ก.เขตลาดกระบัง พรรคเพื่อไทย เคยยื่นกระทู้ถามในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 18 ม.ค.66  ระบุว่า โครงการก่อสร้างนี้ ไม่มีความคืบหน้า ผลงานสะสมเท่าเดิม  รวมมีวัสดุอุปกรณ์กีดขวางทางจราจร ทำให้การจราจรติดขัด สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน 


ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างทางยกระดับถนนอ่อนนุช-ลาดกระบัง มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การจราจรบนถนนดังกล่าว มีความรวดเร็ว รองรับการเจริญเติบโตของชุมชนและสนามบินสุวรรณภูมิ แก้ไขปัญหาการจราจร เพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายคมนาคมขนส่งในพื้นที่เขตลาดกระบัง ระยะทางโครงการรวม 3,500 เมตร เจ้าของโครงการคือ สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร มีงบประมาณก่อสร้าง 1,664,550,000 บาท เริ่มสัญญาเมื่อวันที่ 23 ก.พ. 64 - 11 ส.ค.66 โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จ เดือนธันวาคม 2567




ปฏิบัติการกู้ซากสะพานถล่มใน 3 วัน


การรื้อเก็บกู้ซากคานปูนคอนกรีตจากเหตุการณ์สะพานข้ามแยกถนนอ่อนนุช-ลาดกระบังถล่มค่อนข้างมีอุปสรรค เนื่องจากแท่นปูนกับโครงสร้างเหล็กทับซ้อนกัน  เจ้าหน้าที่จึงต้องตัดแยกทีละชิ้นและใช้เครนยกออกที่ละส่วน   ขณะที่สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร เร่งดำเนินการให้เสร็จภายใน 3 วัน เพื่อฟื้นความเชื่อมั่น และ คืนพื้นผิวการจราจรลดความเดือร้อนให้กับประชาชน


ไขเหตุสะพานข้ามอ่อนนุช-ลาดกระบังถล่ม


หลังเจ้าหน้าที่วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบสาเหตุ ประกอบกับการพิจารณาจากแบบแปลนก่อสร้างพบว่าจุดเกิดเหตุ อยู่ใกล้กับตอม่อ โดยลักษณะการก่อสร้าง ใช้ระบบที่เรียกว่า คานต่อเนื่อง เป็นโครงเสาและคานต่อกัน เมื่อเกิดถล่มจึงทำให้ดึงส่วนอื่น ไปด้วย  ซึ่งตัว Launcher  หรือ  อุปกรณ์ในการติดตั้งคานสะพานด้วยโครงเหล็กเลื่อน ของการก่อสร้างสะพาน ส่วนใหญ่จะครอบคลุมประมาณ 2 ช่วงสะพาน แต่วันเกิดเหตุน่าจะมีปัญหา 

โดย รศ.เอนก ศิริพานิชกร ประธานสาขาโยธา วสท. ตั้งข้อสังเกตไปที่ตัวอุปกรณ์ โดยเฉพาะ ตัว   ที่ทำหน้าที่วาง บนตอม่อ ซึ่งต้องตรวจสอบตำแหน่งการวางต่างๆ จุดเชื่อมต่อ รวมถึงรายละเอียดขณะการก่อสร้าง


"สิ่งที่เราพบก็คือว่า จากข้อมูลมีหลายส่วน ตัวคานสะพานที่ติดเข้าไปทราบว่า ขณะที่เกิดเหตุ น่าจะ เป็นช่วงทำการอัดแรง เข้าไปที่คานสะพาน ซึ่งการอัดแรง ก็จะใช้ Launcher ทำการยกชิ้นส่วน หลังจากนั้นก็พลิก ทำให้เกิดความเสียหาย เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เราเคยเกิดปัญหาใหญ่ครั้งหนึ่งที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 4-5 ปีที่แล้ว แต่เกิดบนพื้นที่กว้าง เป็นช่วงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ครั้งนี้เป็นการหล่นลงไปบนเมืองที่เป็นที่ชุมชน ในฐานะวิศวกรก็เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ" รศ.เอนก ศิริพานิชกร กล่าว 


นอกจากการหาสาเหตุแล้ว อีกส่วนสำคัญ คือ โครงสร้างของสะพานที่ไม่ได้รับความเสียหาย และ ไม่ได้ถูกรื้อถอน   ประธานสาขาโยธา วสท. เสนอให้กรุงเทพมหานคร ควรที่จะตัด โครงสร้างออกจากกัน พร้อมเข้าไปตรวจสอบอย่างละเอียด ด้วยขั้นตอนทางวิศวกรรม เพื่อยืนยันถึงความปลอดภัยก่อนที่จะกลับมาก่อสร้างให้แล้วเสร็จ  


ทั้งนี้เสนอว่า ในพื้นที่ก่อสร้างที่มีตัว Launcher หรือ  อุปกรณ์ในการติดตั้งคานสะพานด้วยโครงเหล็กเลื่อน ของการก่อสร้างสะพาน  ควรกำหนดให้ขยายพื้นที่การก่อสร้างให้กว้างขึ้นเพื่อความปลอดภัย แม้จะรบกวนการเดินทางของประชาชน เพื่อปิดกั้นแนวก่อสร้างให้ปลอดภัย 


ในส่วนของ การก่อสร้างสะพานอ่อนนุช- ลาดกระบังหากจะดำเนินการต่ออาจจะต้อง กำหนดเวลาในการก่อสร้าง คือ ต้องทำในหลัง 22.00 น เป็นต้นไปจนถึง 04.00 น. 


สำหรับ ประเทศไทยมีสะพานกลับรถทั่วประเทศ อยู่ประมาณ 3,000 กว่าแห่ง โดยอยู่ในกรุงเทพมหานคร  22 แห่ง ซึ่งเหตุการณ์ที่ผ่านมา จะเกี่ยวข้องกับอุปกรณ์การก่อสร้าง หรือชิ้นส่วนของการก่อสร้าง ที่ตกลงมาบนท้องถนน


ในหลวงทรงเสียพระราชหฤทัยสะพานถล่ม



วันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ นายจิตรพัฒน์ ไกรฤกษ์ รองอธิบดีกรมราชเลขานุการในพระองค์ เชิญดอกไม้และตะกร้าสิ่งของพระราชทาน มอบแก่ผู้บาดเจ็บจากเหตุโครงการสะพานยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง พังถล่ม เมื่อวานนี้ (10 ก.ค.)


การนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม รับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บทั้งหมดไว้เป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ ยังความปลื้มปิติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ แก่ผู้บาดเจ็บและครอบครัวอย่างหาที่สุดมิได้



 สามี-ภรรยาเผยนาทีรอดชีวิตสะพานถล่ม


นายเผชิญและนางจำเนียร สองสามีภรรรยา ที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว เปิดเผยว่า มาซื้อสินค้าที่ห้างสรรพสินค้าใกล้จุดเกิดเหตุ และกำลังจะขับรถกลับบ้าน มองเห็นสะพานกำลังถล่ม จึงเร่งเครื่องเพื่อให้พ้นจากแนวสะพาน แต่รถเกิดดับ และมีต่อม่อสะพานขนาดใหญ่ รวมถึงเศษเหล็กตกลงมา จึงตัดสินใจพากันออกมาจากรถ ไปขอความช่วยเหลือจากปั๊มน้ำมันใกล้เคียง


ส่วนสาเหตุที่รอดมาได้ เชื่อว่า เป็นเพราะบารมีของหลวงปู่ทวด วัดฉลอง จังหวัดภูเก็ต ที่คล้องคอไว้ตลอดเวลา ส่วนภรรยาคล้องพระหลวงพ่อกวย วัดโฆสิตาราม จังหวัดชัยนาท และยังมีพระแขวนหน้ารถอีกหลายองค์ ซึ่งหลังเกิดได้แจ้งความเสียหายกับบริษัทประกันภัยแล้ว



พบต้นตอสะพานข้ามแยกลาดกระบังถล่ม 


รองศาสตราจารย์คมสัน มาลีสี อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง คาดว่า สาเหตุที่สะพานข้ามยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง พังถล่มลงมานั้น เกิดขึ้นระหว่างการดึงลวดเพื่อเชื่อมโครงสร้างสะพานเข้าด้วยกัน โดยอุปกรณ์ยึดตัวสะพาน (ลอนเชอร์ทรัส) อาจรับน้ำหนักไม่ไหวจนเกิดการพลิกตัวไปด้านซ้าย ทำให้ลวดที่ใช้ดึงสั่นสะเทือนและขาด ทำให้เกิดการทรุดของสะพานในเวลาต่อมา


ยืนยันว่า กรณีนี้ไม่เกี่ยวกับโครงสร้างตอม่อของสะพาน เนื่องจากมีการตอกเสาเข็มลงลึกถึงชั้นทราย และมีความแข็งแรง ไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำฝนซึ่งเป็นน้ำผิวดิน อย่างไรก็ตามจะต้องตรวจสอบสเปกของคอนกรีตตอม่อด้วยเช่นกัน



“ชัชชาติ” ปัดไม่เกี่ยวแก้แบบจนสะพานถล่ม



สอดคล้องกับความเห็นของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ระบุว่า ลักษณะของการเกิดเหตุเป็น “โครงสร้างสะพานวิบัติ” ขณะดึงลวดอัดแรงส่งผลให้ ลอนเชอร์ทรัส ที่ยึดคานสะพานชั่วคราวเสียสมดุล และล้มพับไปจนโครงสร้างสะพานเสียหาย 1 ช่วง ซึ่งผลกระทบจากเหตุดังกล่าวทำให้ชิ้นส่วนสะพานหล่นมากีดขวางการจราจร 2 ช่องทาง รวมถึงมีอาคารพาณิชย์และรถยนต์โดยรอบได้รับความเสียหายขณะที่มีผู้เสียชีวิต 2 คน บาดเจ็บ 12 คน หลายรายการ


นายชัชชาติ ย้ำด้วยว่า การเปลี่ยนแบบ หรือการเร่งรัดการก่อสร้างไม่ใช่ปัจจัยของการเกิดอุบัติเหตุในครั้งนี้







ภาพ TNNOnline 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง